แล้งจัด!! ถนนมิตรภาพสายเก่ายาว 8.5 กม. โผล่พ้นน้ำ ชาวบ้านเฮปลูกผัก-เลี้ยงควาย
2015-04-05 20:06:46
Advertisement
คลิก!!!
 
 สถานการณ์ภัยแล้งได้ขยายวงลุกลาม ส่งผลให้ปริมาณน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว นครราชสีมา สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้อง ประชาชน กว่า 6 แสนคน ในเขต 6 อำเภอ ลดต่ำอย่างต่อเนื่อง พบเส้นทางถนนมิตรภาพ ทางหลวงแผ่นดินสายแรกของประเทศไทย ที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลต์คอนกรีต โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และเทคนิควิชาการจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โผล่ขึ้นทางด้านทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำ เป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร
 
 นายวิชาญ จูจันทึก ชาวบ้านในละแวกริมอ่างเก็บน้ำฯ เปิดเผยว่า ระดับน้ำได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยวันละประมาณ 20 เซนติเมตร ถนนมิตรภาพ ที่ก่อสร้างมานานกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรเดิมจากบ้านท่าง่อย ต.จันทึก อ.ปากช่อง ถึงบ้านท่าสูบ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว ก่อนจะสร้างอ่างเก็บน้ำฯ ได้โผล่ขึ้นกลางอ่างเก็บน้ำฯ เกือบทุกปีเมื่อถึงฤดูแล้ง ได้ถือโอกาสของปรากฏการณ์ถนนมิตรภาพโผล่ครั้งนี้ พาครอบครัวมาช่วยกันนำตาข่าย และอุปกรณ์หาปลามาจับปลาในอ่างฯ โดยได้ปลาวันละ 20 กก. นำไปขายที่ตลาดถือเป็นรายได้ ส่วนที่เหลือจะนำมาประกอบอาหารเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งจับจองพื้นที่เลียบถนนมิตรภาพโผล่ ขุดเปิดหน้าดินเตรียมทำแปลงเกษตรปลูกพืช ผัก หลายแห่ง
 
 ด้านนายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กล่าวว่า หลังอ่างเก็บน้ำลำตะคอง เปิดใช้งานเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ 2512 ทำให้ถนนมิตรภาพสายเก่า ถูกน้ำท่วมเป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากระดับน้ำลดต่ำกว่า 100 ล้าน ลบ.เมตร จะเห็นชัดเจนมาก สถานการณ์ล่าสุด มีปริมาณน้ำ 94.54 ล้าน ลบ.เมตร หรือร้อยละ 30 ของความจุ 314 ล้าน ลบ.เมตร จึงเห็นเส้นทางเก่าโผล่พ้นน้ำยาวประมาณ 8.5 กิโลเมตร ชาวบ้านในเขต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จึงใช้วิกฤตเป็นโอกาส นำวัว ควายมาเลี้ยง ปลูกพืชผัก และจับสัตว์น้ำบริเวณพื้นที่ก้นอ่างเก็บน้ำฯ รวมทั้งนำยานพาหนะมาจอดล้างทำความสะอาด บางรายก็นำบุตรหลานมาเล่นน้ำคลายร้อน
 
 ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 54 จึงต้องควบคุมการใช้น้ำอย่างเข้มข้น ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤต และการแย่งชิงน้ำดิบ แนวทางได้สงวนไว้เฉพาะอุปโภค บริโภค และระบบนิเวศน์เท่านั้น พร้อมขอความร่วมมืองดทำนาปรังในพื้นที่ชลปะทาน 154,000 ไร่ ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่พบทำนาปรัง 20,462 ไร่ ถือเป็นสัดส่วนที่สามารถควบคุมการใช้น้ำภาคเกษตรกรได้
 
 “โครงการฯ ได้ระบายน้ำวันละ 691,200 ลบ.ม. เพื่อช่วยกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ขณะนี้สภาพอากาศในพื้นที่ร้อนอบอ้าว ประกอบกับเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นเป็นพิเศษ จึงปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. โดยจะเริ่มโรยน้ำมาในวันที่ 9 เม.ย. เพื่อให้ประชาชน ได้มีน้ำเล่นสงกรานต์อย่างพอเพียง อย่างไรก็ตาม ขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่ออนุรักษ์ประเพณีไทย ควรเล่นน้ำอย่างพอเหมาะ ชาวโคราช จะได้มีน้ำกินน้ำใช้โดยไม่ขาดแคลน” ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าว
 
 
ขอขอบคุณที่มา  ข่าวสดออนไลน์
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X