อึ้ง! ซุปก้อนมีโซเดียมเกินร่างกายควรรับ แนะลดเค็มแต่เด็กได้ผลถึงแก่
2015-03-25 14:09:23
Advertisement
คลิก!!!

        กรมอนามัยชี้ กินเค็มแต่เด็ก ส่งผลกินเค็มจนแก่ เสี่ยงโรคเรื้อรัง ทั้งไตวาย ความดันสูง กระดูกพรุน แนะฝึกเด็กลดกินเค็มแต่เด็ก เผยปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรส อึ้ง! ซุปก้อนโซเดียมพุ่งถึง 2,600 มิลลิกรัม เกินกว่าที่ร่างกายควรรับแต่ละวัน 

 
       นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โซเดียมมีความสำคัญต่อร่างกายโดยทำหน้าที่ส่งสัญญาณในระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แต่หากบริโภคโซเดียมมากเกินไป ทำให้ไตขับออกได้ไม่หมด โซเดียมก็จะคั่ง ดึงน้ำไว้ในร่างกายมาก ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เร่งให้ไตเสื่อมลง เกิดภาวะไตวาย และยังทำให้ขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน คือ 1 ช้อนชา เทียบเท่าปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม ดังนั้น พฤติกรรมลดการกินเค็มควรปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นจะมีผลต่อรูปแบบการกินอาหารไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการกินอาหารรสเค็มจัดตั้งแต่เด็ก มีผลต่อความดันโลหิต และอาจส่งผลต่อโรคต่างๆ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เป็นโรคอ้วน และนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน
       
       นพ.พรเทพ กล่าวว่า รสเค็มในอาหารมาจากเครื่องปรุง เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงควรเริ่มจากการลดการกินอาหารรสเค็มจัด ลดการปรุงเครื่องปรุงที่มีเกลือ หรือ โซเดียมสูง และลดการกินน้ำจิ้มต่างๆ โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียนต้องมีการเฝ้าระวังและสนับสนุนการบริโภคอาหารเช้า กลางวัน และ เย็น ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และต้องไม่มีโซเดียมมากเกินไป ซึ่งการบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเน้น ลดหวาน มัน เค็ม และเพิ่มการกินผัก ผลไม้สด ร่วมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
       
       “ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามการเจริญเติบโตในเด็กนักเรียนอายุ 6 - 12 ปี จำนวน 1,492,089 คน จาก 76 จังหวัด ของกรมอนามัย ปี 2555 พบว่า นักเรียนมีภาวะอ้วน จำนวน 187,000 คน เตี้ย จำนวน 254,620 คน และผอม จำนวน 99,112 คน สาเหตุสำคัญส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมโภชนาการที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เด็กวัยเรียนมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี และผลการวิจัยหลายแหล่งพบว่าเด็กที่เป็นโรคอ้วน 1 ใน 3 จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
       
       สำหรับปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรส พบว่า เกลือ 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม เต้าเจี้ยว 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 1,995 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 1,500 มิลลิกรัม ซีอิ๊ว 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 1,260 มิลลิกรัม น้ำจิ้มสุกี้ 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 600 มิลลิกรัม ซุปก้อน 1 ก้อน มีโซเดียม 2,600 มิลลิกรัม น้ำปู 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 2,115 มิลลิกรัม ปลาร้า 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม1,650 มิลลิกรัม ไตปลา 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 2,580 มิลลิกรัม ไข่เค็ม 1ฟอง มีโซเดียม 480 มิลลิกรัม และผงชูรส 1 ช้อนชา มีโซเดียม 600 มิลลิกรัม
 
 
ขอขอบคุณที่มา  http://www.manager.co.th/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X