เจาะลึกร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก เก็บ5-10% ลุ้นครม.คลอด 12 พ.ย.นี้
2014-11-11 10:41:16
Advertisement
คลิก!!!

ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดกก็เสร็จสมบูรณ์ พร้อมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ 

กฎหมายนี้กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้กล้าทำในสิ่งที่หลายรัฐบาลมีแนวคิดจะทำ แต่ก็ไม่เคยทำได้สำเร็จ 

"มติชน" ได้นำสาระสำคัญของร่างกฎหมายภาษีการรับมรดก มาให้ผู้สนใจได้ศึกษากันก่อนในเบื้องต้น ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างเงียบเชียบ ผ่านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้โยกย้ายจากผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กลับบ้านเก่ามาเป็นอธิบดีสรรพากร ซึ่งนายประสงค์แอบนำร่างกฎหมายเสนอเข้า คสช.ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 เพื่อส่งผ่านไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ช่วยพิจารณา

- คาดบังคับใช้ในปี2558

ทีมพิจารณาร่างกฎหมายของกฤษฎีกามีมือดีชั้นเซียน อย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายวิษณุ เครืองาม รวมถึงมือดีด้านคลังอย่างนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ร่วมอยู่ด้วย ทำให้ใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายไม่นานเพียง 4 เดือนก็เสร็จสมบูรณ์ และล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงการคลังไปหารือร่วมกับกฤษฎีกา เพื่อพูดคุยในประเด็นที่คลังยังมีความเห็นแตกต่างจากกฤษฎีกา การพูดคุยทำความเข้าใจครั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันในชั้นของ ครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะหากมีข้อโต้แย้งจากหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายน้อยลง สนช.พิจารณากฎหมายจบได้เร็ว

นายสมหมายคาดว่า สนช.จะพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 3 วาระได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งน่าจะประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษาได้ในช่วงกลางปี 2558 โดยจะให้เวลา 3 เดือน ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมตัว

เดิมทีกฎหมายฉบับนี้ใช้ชื่อว่า "ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้" แบ่งภาษีเป็น 2 หมวด คือ หมวดภาษีการรับมรดก (จากผู้เสียชีวิต) และหมวดภาษีการรับให้ (จากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่) แต่ข้อสรุปล่าสุดได้ตัดภาษีการรับให้ออก และให้ไปแก้ไขประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายของกรมสรรพากร ในมาตรา 42(10) ที่ระบุว่าเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งกระทรวงการคลังต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับภาษีมรดกที่จะออกมา เพื่อปิดทางการเลี่ยงภาษีด้วยการโอนให้ทายาทก่อนเสียชีวิต 

- กำหนดเพดานการจัดเก็บสูงสุด10% 

ข้อสรุปของร่างกฎหมายภาษีมรดกล่าสุดมีความแตกต่างจากร่างแรกที่เสนอโดยกระทรวงการคลังหลายประเด็น โดยเฉพาะหัวใจหลักของกฎหมายคืออัตราภาษี เดิมทีทางฝั่งกระทรวงการคลังเสนอให้เก็บภาษีในอัตราเดียวเท่ากันหมด 10% แต่ในระหว่างที่กฤษฎีกากำลังพิจารณานั้นมีแรงกระเพื่อมและเสียงคัดค้านจากบรรดาเศรษฐีและนักวิชาการ ทำให้ผลสรุปครั้งล่าสุดคือกำหนดให้ 10% เป็นเพดานในการจัดเก็บที่เขียนไว้ในกฎหมาย และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ประกาศอัตราการจัดเก็บที่เหมาะสมหลังหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว โดยคาดว่าอัตราที่จะประกาศใช้นั้นจะอยู่ระหว่าง 5-10% ซึ่งปัจจัยที่จะกำหนดอัตราคือ กระแสคัดค้านมากน้อยแค่ไหน เศรษฐกิจในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ความต้องการรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายด้านอื่นๆ เป็นอย่างไร

- เก็บเฉพาะผู้รับมรดกเกิน50ล้านบาท

ประเด็นที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือ การจัดเก็บจากผู้รับมรดก ซึ่งเป็นการเก็บภาษีจากญาติ ลูกหลาน ที่ได้รับทรัพย์สินจากผู้ตาย กล่าวคือ เมื่อมีผู้เสียชีวิตที่มีทรัพย์สมบัติ และสมบัติเหล่านั้นถูกแจกจ่ายไปให้ทายาท กระทรวงการคลังจะไปประเมินและเก็บภาษีจากผู้รับมรดก ซึ่งวิธีนี้จะดีกับผู้รับมรดก มากกว่าการใช้วิธีเก็บจากกองมรดก อย่างที่หลายประเทศใช้อยู่ การเก็บภาษีจากกองมรดกทำให้ทรัพย์สมบัติของผู้ตายจะถูกประเมินภาษีทันที บางประเทศลูกหลานต้องขายบ้านขายที่ดินมาจ่ายภาษี ซึ่งทางกระทรวงการคลังเห็นว่าวิธีการเก็บจากกองมรดกนั้นโหดร้ายเกินไป และอาจมีเสียงต่อต้านมาก แม้จะทำให้รัฐมีรายได้มากกว่าจัดเก็บจากผู้รับมรดก แต่ถ้าประเมินแล้วเสียงต่อต้านการจัดเก็บภาษีจากผู้รับมรดกอาจจะน้อยกว่า 

หัวใจหลักอีกประเด็นที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือ การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินสุทธิที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเก็บจากส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท ที่หักหนี้สินออกไปแล้ว ดังนั้นการเก็บภาษีตรงนี้จะไม่ใช่เก็บจากบาทแรก และยิ่งเป็นการเก็บจากผู้รับมรดกด้วยแล้ว ยิ่งลดผลกระทบจากของประชาชนที่รับมรดก สมมุติว่าผู้ตายมีมรดก 210 ล้านบาท มีหนี้ 70 ล้านบาท มีลูก 3 คน ก่อนมาจ่ายภาษีต้องนำไปหักหนี้ ทำให้เหลือมรดกสุทธิ 140 ล้านบาท แบ่งให้ลูก 3 คน ได้คนละกว่า 46 ล้านบาท ทำให้บรรดาลูกๆ ของผู้รับมรดกไม่ต้องเสียภาษี แต่ในทางกลับกันหากผู้ตายไม่มีหนี้สามารถแบ่งให้ลูกๆ ได้คนละ 70 ล้านบาท ซึ่งลูกจะเสียภาษีในส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท คือ 20 ล้านบาทเท่านั้น

- ประเภทการจัดเก็บ-ข้อยกเว้น ต้องออกกฎหมายลูก

สำหรับทรัพย์สินที่จะจัดเก็บนั้น ทางกระทรวงการคลังระบุว่าต้องเป็นทรัพย์สินที่มีทะเบียน อาทิ ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เงินสดในบัญชีธนาคาร หุ้น ตราสารหนี้ ซึ่งจะมีการออกเป็นกฎกระทรวง หลังจากภาษีมีผลบังคับใช้ โดยในส่วนของอสังหาริมทรัพย์นั้นมีข้อสรุปว่าเก็บแน่ๆ แต่สังหาริมทรัพย์นั้นขณะนี้ยังไม่สรุปชัดเจนว่าจะเป็นประเภทใดบ้าง

ทั้งนี้จะมีข้อยกเว้นให้กับมรดกที่ไม่ต้องเสียภาษี อาทิ มรดกของคู่สมรส และล่าสุดกระทรวงการคลังเสนอให้ยกเว้นสำหรับมรดกที่บริจาคให้กับการศึกษา ที่เป็นข้อยกเว้นซึ่งใช้แพร่หลายในต่างประเทศ โดยจะมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เกี่ยวกับข้อยกเว้นอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นในระหว่างนี้ข้อยกเว้นอาจจะมีเพิ่มเติมหรือตัดทิ้ง จากนี้คงต้องรอดูหลังกฎหมายมีผลบังคับแล้วว่าจะมีการออก พ.ร.ฎ.อย่างไร

ในการจ่ายภาษีกฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้รับมรดกต้องเสียภาษีภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันรับมรดก หากไม่มีเงินมาจ่ายภาษี กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะให้ผ่อนผันได้ 2 ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้รับมรดกเกินไป และถ้ายังไม่ต้องการเสียภาษีสามารถดำเนินการในรูปแบบของกองมรดกได้ รวมถึงยังเปิดทางให้ผู้ได้รับมรดกโต้แย้ง หากเห็นว่าภาษีที่เสียนั้นไม่ถูกต้อง เพราะในการเสียภาษีกรมสรรพากร ที่เป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีต้องประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อนำไปคำนวณภาษี ดังนั้น หากผู้รับมรดกไม่ยอมรับมูลค่าที่กรมสรรพากรประเมินไว้ สามารถอุทธรณ์ ซึ่งเป็นแนวทางปกติที่ใช้ในกฎหมายภาษีทั่วไป 

- ปิดทางเลี่ยงภาษี

กฎหมายภาษีมรดกจะมีแนวทางการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี โดยหากมีการโอนทรัพย์สินแล้วผู้ให้เสียชีวิตหลังโอน 2-3 ปีผู้รับต้องมาเสียภาษีมรดก รวมถึงจะมีแนวทางการป้องกันไม่ให้มีการตั้งนอมินีขึ้นมารับมรดก หรือซอยมรดกออกเป็นกองย่อยๆ ไม่ให้เกิน 50 ล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เบื้องต้นกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะให้เก็บภาษีตามลำดับชั้นของทายาท กล่าวคือ หากเป็นทายาทสายตรง อาทิ ลูก หลาน จะเสียในอัตราที่ต่ำ แต่ถ้าไม่มีความความสัมพันธ์ทางสายเลือด จะถูกเก็บในอัตราเต็มตามเพดาน 10% แนวคิดนี้กฤษฎีกายังไม่เห็นด้วย ดังนั้นคงต้องติดตามอีกครั้งว่าในการพิจารณาของ ครม.และ สนช.จะมีแนวทางการป้องกันนอมินีออกมาอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้เมื่อประกาศบังคับใช้กฎหมายแล้วจะเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากร ที่จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมที่ดิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก และสถาบันการเงิน ตรวจสอบการรับโอนทรัพย์สินต่างๆ ของประชาชน เพื่อที่กรมสรรพากรจะใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่

- เลี่ยงภาษีจะถูกลงโทษทั้งแพ่ง-อาญา

สำหรับบทลงโทษจะใช้ฐานการลงโทษตามกฎหมายภาษีทั่วไป ที่มีโทษทั้งทางแพ่ง และอาญา โดยโทษทางแพ่งคือต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนจากอัตราภาษีที่ต้องเสีย ส่วนทางอาญาหากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพราะอาจไม่รู้โดยไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีมีโทษปรับ 2,000 บาท แต่ถ้าจงใจไม่ยื่นแบบโดยมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี มีโทษปรับ 5,000 บาท จำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำและทั้งปรับ

การจัดเก็บภาษีมรดกนั้นรัฐบาลชุดนี้ยืนยันว่าไม่ใช่เพื่อต้องการหารายได้เข้ารัฐบาล เพราะภาษีที่จะจัดเก็บได้น่าจะอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท และต้องขึ้นอยู่กับว่าในปีนั้นมีเศรษฐีเมืองไทยเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องมักอ้างการนำภาษีนี้มาใช้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการกระจายรายได้ เนื่องจากทรัพย์สินที่พอกพูนขึ้นของบรรดาเศรษฐีนั้นเกิดขึ้นจากการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่รัฐได้ลงทุนในประเทศจึงสมควรที่ผู้ได้รับมรดกต้องจ่ายคืนให้รัฐ 

คงต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้ว ครม.จะผ่านความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ที่มีกว่า 30 มาตราหรือไม่ 12 พฤศจิกายนนี้รู้กัน!!!


ที่มา  มติชนออนไลน์

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X