กาชาดเปิดบัญชีระดมทุนหยุดยั้งอีโบลา ตั้งจุดตรวจผู้ป่วยจากพื้นที่ระบาด ใน รพ.จุฬาฯ
2014-11-06 18:27:22
Advertisement
คลิก!!!

        ป่วยอีโบลาทะลุ 1.3 หมื่นรายแล้ว ตายอีกกว่า 4.8 พันราย ทั่วโลกเร่งให้ความช่วยเหลือ ด้านสภากาชาดไทยรับลูกเปิดบัญชีระดมทุนพลังน้ำใจหยุดยั้งอีโบลาในประเทศแอฟริกาตะวันตก หลังกาชาดโลกตั้งเป้า 35 ล้านฟรังก์สวิส พร้อมตั้งจุดคัดกรอง ตรวจอาการผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด เผยเร่งให้ความรู้บุคลากรทางการแพทย์แยกโรคอีโบลา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสย้ำอาจไม่ติดเชื้อโรคแค่ชนิดเดียว 
       
       วันนี้ (6 พ.ย.) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการแถลงข่าวโครงการ “รวมพลังปันน้ำใจ ต้านภัยอีโบลา” เพื่อระดมทุนให้การช่วยเหลือสนับสนุนการควบคุมเชื้อไวรัสอีโบลา นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลายังคงน่าเป็นห่วง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานข้อมูลถึงวันที่ 2 พ.ย. พบมีผู้ป่วยอีโบลาจาก 6 ประเทศแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ เซียร์ราลีโอน กินี ไลบีเรีย ไนจีเรีย คองโก และ มาลี รวมถึงสเปน และสหรัฐอเมริกา รวม 13,042 ราย เสียชีวิต 4,818 ราย อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงต่ำในการระบาด แต่ สธ. ยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคทั้งท่าอากาศยาน ด่านทางน้ำ ทางบก โรงพยาบาล และชุมชน โดยจะติดตามและสอบถามอาการจนครบระยะการฟักตัวของโรคคือ 21 วัน ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่เดินทางมาจากประเทศระบาดตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. - 5 พ.ย.2557 รวม 2,773 ราย พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 3 ราย แต่ทั้งหมดไม่มีการติดเชื้อไวรัสอีโบลา นอกจากนี้ ยังเตรียมระบบรักษาดูแลผู้ป่วยป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล และจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคาลากรทางการแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
       
        นายสวนิต คงสิริ ผูช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของเชื้ออีโบลาในประเทศแอฟริกาตะวันตกน่าเป็นห่วงมาก เพราะระบบการแพทย์และสาธารณสุขล้มเหลว แม่และเด็กขาดสารอาหาร ขาดวัคซีนและเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ เช่น มาลาเรีย ปอดอักเสบ เป็นต้น นานาประเทศจึงเห็นพ้องว่าจะต้องรีบหยุดการระบาดให้เร็วที่สุด เนื่องจากเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและสันติภาพของนานาประเทศ สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ จึงขอความร่วมมือไปยังสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงในประเทศต่างๆ ให้ช่วยเหลือสนับสนุนด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่ระบาด ได้แก่ การระดมทุน ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 35 ล้านฟรังก์สวิส ขณะนี้ระดมทุนไปแล้ว 40% รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 5 ด้าน คือ การติดต่อสื่อสารอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ระบาด สืบหาติดตามญาติ ช่วยเหลือสภาพจิตใจ จัดฝังศพผู้เสียชีวิตจากเชื้ออีโบลาอย่างปลอดภัย และดูแลรักษาเป็นกรณี สำหรับสภากาชาดไทยในฐานะสมาชิกขบวนการกาชาดฯ จึงได้เปิดบัญชีบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการควบคุมเชื้อไวรัสอีโบลา โดยสามารถบริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี “พลังน้ำใจเพื่อหยุดยั้งอีโบลา” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา รพ.จุฬาลงกรณ์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 468-0-41667-5 ธ.กสิกรไทย สาขา รพ.จุฬาลงกรณ์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 623-1-00234-9 และ ธ.กรุงเทพ สาขา รพ.จุฬาลงกรณ์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 913-3-50021-6 
       
       ด้าน รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดนั้น เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง รพ.จุฬาฯ จึงจัดสถานที่เพื่อการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด โดยหลังจากที่ผ่านจุดคัดกรองของ สธ.แล้ว หากช่วงเฝ้าระวังมีอาการป่วย หากอยู่ใน กทม.ก็สามารถเดินทางมารับการตรวจคัดกรองที่ รพ.จุฬาฯ ได้ สำหรับผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลสังกัด สธ. ตามที่วางระบบไว้ต่อไป สำหรับจุดคัดกรองของ รพ.จุฬาฯ ในวันเวลาราชการที่อยู่ตึก ภปร ชั้นล่าง นอกเวลาราชการที่อยู่ห้องบัตรใกล้ห้องฉุกเฉิน โดยห้องตรวจได้จัดไว้ที่ห้องตรวจระหว่างตึกจักรพงษ์และตึก ภปร มีการจัดแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ พยาบาลหน่วยป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวังสูงสุด เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายในโรงพยาบาล รวมทั้งเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นเหมาะสมในการทำงาน ยึดแนวทางปฏิบัติตตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งอบรมบุคลากรให้มีความรู้พร้อมในการดูแลผู้ป่วย 
       
        ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน และศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ที่ต้องเร่งดำเนินการคือต้องอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการแยกโรคอีโบลาออกจากโรคติดเชื้ออื่นๆ จะพึ่งแต่ผลการตรวจแล็บอย่างเดียวไม่ได้เพื่อเร่งช่วยชีวิตคนๆ นั้น โดยอาการเด่นของโรคอีโบลา คือ อาเจียน และท้องเสีย เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในวันที่ 6 หลังป่วย ซึ่งบางครั้งยังไม่ตกเลือดก็เสียชีวิตแล้ว เนื่องจากอาการเลือดออกจะเกิดเพียง 25% ของผู้ป่วยเท่านั้น ที่สำคัญผู้ป่วยอาจไม่ได้ป่วยแค่โรคติดเชื้อเพียงเชื้อเดียว อาจป่วยด้วยโรคประจำถิ่น มาลาเรีย หรือไทฟอยด์ร่วมด้วย แต่อาการของโรคอีโบลาอาจปรากฏภายหลัง บุคลากรทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในการแยกโรค เพราะหากป่วยด้วยโรคอีโบลาจริงจะได้ดูแลรักษาตามมาตรการต่อไป


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X