การดำเนินเรื่องที่น่าติดตามสไตล์ละครญี่ปุ่น
2014-11-02 12:38:09
Advertisement
คลิก!!!

ความสนุกของละครญี่ปุ่นนั้นนอกจากจะอยู่ที่เนื้อเรื่องแล้ว ยังอยู่ที่ “การดำเนินเรื่อง” และ “กลวิธีการเล่าเรื่อง” อีกด้วยค่ะ จะว่าไปแล้ว ละครญี่ปุ่นก็มีวิธีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจค่ะ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ละครญี่ปุ่นน่าติดตาม สัปดาห์นี้เลยมาขอเล่าถึง “การดำเนินเรื่อง” ที่น่าติดตามของละครญี่ปุ่น จะเป็นอย่างไรบ้างนั้นตามมาอ่านกันเลยค่ะ


1. เดินเรื่องเร็วเวอร์!!!
อย่างที่รู้กันว่า ละครญี่ปุ่นมีจำนวนตอนที่สั้นมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ในเรื่องหนึ่งมีจำนวนตอนประมาณ 8 – 12 ตอนเท่านั้น แต่ละตอนก็มีความยาวประมาณ 46 นาที (ไม่รวมโฆษณานิดๆ หน่อยๆ) ซึ่งทำให้เห็นว่าความยาวของละครญี่ปุ่นนั้นสั้นมาก ส่งผลให้การดำเนินเรื่องของละครญี่ปุ่นจะเดินไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีการยืดเรื่องให้เยิ่นเย้อจนน่าเบื่อ ถือว่าเป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการสร้างละครญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ค่ะ ออกแนวทำนองว่า จะดำเนินเรื่องไปอย่างไร โดยที่ไม่ให้คนดูรู้สึกอยากละสายตาไปจากจอ ดังนั้นทุกวินาทีของละครมีค่าค่ะ ต้องดึงคนดูให้อยู่หมัด

ว่าแต่การเดินเรื่องที่ว่ารวดเร็วเนี่ย จะเร็วขนาดไหนกัน เพื่อนๆ อาจจะยังนึกภาพไม่ออก ชามะนาวก็เลยขอยกตัวอย่างจากละครญี่ปุ่นมาให้เห็นภาพกันสักหน่อยค่ะ อย่างเช่นเรื่อง “Shitsuren Chocolatier” สิ่งที่เกิดขึ้นตอนเปิดเรื่องมา 20 นาทีแรกคือ พระเอกหลงรักนางเอก ถูกนางเอกบอกเลิก พระเอกบินไปเรียนทำช็อคโกแลตที่ปารีส ได้เพื่อนสนิทมา 1 คน แล้วบินกลับมาญี่ปุ่น เปิดร้านช็อคโกแลต พระเอกก็มีชื่อเสียง ป็อปขึ้นมา ในขณะที่นางเอกกำลังแต่งงานกับผู้ชายอีกคน ถ้าจะให้ยืดเรื่องออกเนี่ย ทำได้มากกว่า 1 ตอนเสียด้วยซ้ำ แต่เขากลับเลือกที่จะเล่าแค่เพียงเวลาสั้นๆ เหตุผลก็เพราะ ข้อหนึ่ง ละครมีจำนวนตอนที่สั้นมาก และยังมีเนื้อเรื่องที่โดดเด่นมากกว่านี้ เลยต้องรีบเล่าบางส่วนให้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว  สอง ส่วนที่เป็นภูมิหลังของละคร มักจะไม่เล่ายืดเยื้อ สาม จะยืดเนื้อเรื่องมากไม่ได้ เพราะภายใน 46 นาที แทบทุกวินาทีต้องดึงคนดูให้อยู่ จะทำยังไงก็ได้ ที่จะให้คนดูเลือกเปลี่ยนช่องให้ได้น้อยที่สุด 

และจากการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วเช่นนี้ ทำให้ละครญี่ปุ่นมีความน่าติดตาม ไม่ค่อยมีความน่าเบื่อจากความเยิ่นเย้อของเรื่อง แต่กลายเป็นว่าต้องจับตาดูให้ดี เดี๋ยวจะตามเรื่องไม่ทัน เรื่องที่เห็นได้ชัดๆ อีกเรื่องก็คือ“Hanzawa Naoki” ที่มีคำโปรยที่ว่า “เป็นละครที่จะทำให้คุณไม่ลุกไปไหนเลยตลอด 2 ชั่วโมง” ซึ่งการเดินเรื่องที่รวดเร็ว และเข้มข้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกใช้ในละครเรื่องนี้


2. เดินเรื่องด้วยภาพ
มีคนเคยบอกว่าความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์กับละครที่สังเกตเห็นได้อย่างง่ายๆ เลยก็คือ ภาพยนตร์จะเน้นที่การฉายภาพค่ะ ภาพจะเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเล่าเรื่องราว แต่ละครนั้นบทบาทความสำคัญของภาพจะลดน้อยลง จะเน้นไปที่บทพูด บทสนทนามากกว่า จะเห็นได้ว่า เวลาเราดูละคร แม้ว่าเราจะไม่ได้จับจ้องที่จอโทรทัศน์ตลอด เราก็ดูละครได้รู้เรื่อง เพราะละครมีตัวช่วยคือ “บทพูด” ค่ะ แค่เราฟัง ก็พอทำให้เรารู้เรื่องราวบางอย่างได้ 

แต่สำหรับละครญี่ปุ่นนั้น เรื่องของภาพจะค่อนข้างมีความสำคัญ บทพูดจะไม่อธิบายการกระทำ หรือเหตุผลของการกระทำของตัวละครมากนัก บางฉากจะไม่มีคำพูดใดใดโผล่มาเลยก็มีค่ะ แต่จะเน้นที่ภาพ หรือการกระทำของตัวละคร แล้วให้คนดูตีความเอาเอง เช่น เรื่อง “Legal High2” ตอนที่ว่าด้วยคดีอนาจาร มีผู้ชายคนหนึ่งชอบออกมายืนโชว์ของลับตรงกระจกหน้าต่างของบ้าน ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินผ่านไปผ่านมาแถวนั้นเป็นประจำมองเห็น และเป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเธอเข้าใจว่า ผู้ชายคนนั้นตั้งใจที่โชว์หรือทำอนาจารกับเธอ

หลายคนมองว่าผู้ชายที่โชว์ของลับคนนั้นทำอนาจาร “โคมิคาโดะ เซนเซย์” เลยพลิกคดี โดยสืบไปเจอว่า จริงๆ แล้วผู้หญิงที่ฟ้องว่าถูกผู้ชายทำอนาจารนั้น โชว์ของลับนั้น เป็นพวกที่ชอบแอบดูของลับเองต่างหาก! คดีความก็จบไปด้วยการขอยกเลิกฟ้อง แต่จุดสรุปของเรื่องจริงๆ ก็ฉายออกมาเป็นภาพค่ะ

ในตอนจบ ผู้หญิงคนนี้ก็ยังเดินไปที่แถวๆ บ้านของผู้ชายคนนั้น ก้มมองนาฬิกา ถ้าให้เราตีความก็คือ เธอจำเวลาได้ค่ะว่า ผู้ชายคนนี้จะเดินออกมาตอนกี่โมง เพื่อที่จะได้เจอเขา เธอจึงต้องมาเวลาเดิมทุกวัน และผลสุดท้ายก็จบลงด้วย ทั้งคู่ส่งสายตาปิ๊งๆ กัน เป็นการบอกสัญญาณบางอย่าง และผู้หญิงก็เดินเข้าไปในบ้านของผู้ชายคนนั้น ฉากนี้ไม่มีบทพูดสักแอะค่ะ แต่คนดูก็รู้ได้เลยว่า ความจริงของคดีความนี้ก็เป็นแบบที่โคมิคาโดะ เซนเซย์ได้บอกเอาไว้ ก็คือ ฝ่ายหญิงเองก็ตั้งใจที่จะแอบดูเช่นกัน!


3. เล่าเรื่องแบบปิดมุมมอง
เทคนิคนี้ก็เจอในการดำเนินเรื่องในละครญี่ปุ่นบ่อยค่ะ ละครที่จำเป็นต้องปิดมุมมองบางมุมแก่คนดูนั้นก็มักจะเป็นละครแนวสืบสวนสอบสวน ถ้าเป็นในนวนิยาย นวนิยายประเภทนี้ผู้เขียนจะเล่าโดยใช้ตัวละครบุรุษที่หนึ่ง ก็คือ ตัวฉัน ตัวผม หรือตัวละครเอกนี่แหละค่ะ เป็นคนเล่าเรื่อง คนอ่านก็จะเห็นและรับรู้เฉพาะสิ่งที่ตัวละครเอกเห็น จะไม่ใช่ลักษณะการเล่าเรื่องแบบผู้รู้แจ้ง ประมาณว่าคนอ่านจะรู้จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ละครแนวสืบสวนก็เช่นกันค่ะ ถ้าจะเล่าให้สนุก ต้องปิดมุมมองบางมุม เพื่อชวนให้เรื่องดูน่าติดตาม

อย่างเช่นเรื่องนี้เลยค่ะ “Satsujin Hensachi 70” ละครภาคพิเศษจบในตอน เป็นละครที่ต้องตั้งใจดูมากๆ ค่ะ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยบอกอะไรตรงๆ ให้กับคนดู วิธีการดำเนินเรื่องจะเป็นแบบข้อ 2 ที่ได้เล่าไปแล้วก็คือ เน้นใช้ภาพมากกว่าบท บวกกับปิดมุมมองบางด้านของคนดู ทำให้เวลาดูจะงงเป็นไก่ตาแตกมาก คนดูจะเห็นตามที่ตัวละครในเรื่องเห็น เช่น ทุกคนจะเห็นเหมือนกับ “มิยาฮาร่า เคสุเกะ” (ฮารุมะ มิอุระ) เห็น ก็คือผู้ชายปริศนาที่ชอบตามติดเขามาทุกที่ ทั้งข่มขู่ และทำร้ายต่างๆ นานา ดูไปก็งงไป หลอนไปว่า ไอ้ผู้ชายคนนี้มันเป็นใครกันนะ ทำไมมันถึงได้จิตยังงี้!



หรือจะเป็นฉากนี้ค่ะ ฉากที่คนดูจะเห็นเหมือนกับยามในเรื่องเห็น เป็นฉากที่เคนสุเกะแอบเข้าไปในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกับผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วเข้าไปขโมยสารเคมีบางอย่าง แล้วยามมาเห็นเขาเลยต้องหนี แต่...ทำไมพี่ยามถึงเห็นคนแค่คนเดียว ทั้งๆ ที่มากัน 2 คน 

และนี่ก็เป็นตัวอย่างการปิดมุมมองในละครญี่ปุ่น ที่เขาจะไม่เปิดหมด แม้แต่บทพูดก็จะไม่บอกอะไรมาก จะทิ้งปมเอาไว้ ให้คนดูคิดและสังเกตตามๆ กันไป ซึ่งสิ่งที่เขาปิด มันก็คือจุดเฉลยของเรื่องนั่นแหละค่ะ ถ้าจะให้เล่าเปิดหมด เรื่องก็จะหมดสนุกไป

เขาว่ากันว่า ละครแนวสืบสวนนี่แหละเป็นแนวที่ทำยากสุดๆ การที่จะปิดมุมมอง หรือทิ้งปมอะไรบางอย่างไว้เป็นปริศนาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละครญี่ปุ่นกลับทำได้เนียนค่ะ ทำออกมาที คนดูติดกันงอมแงม ลุ้นอยากดูตอนต่อไปว่าจะเป็นยังไงน้า~


4. ผู้เล่าเรื่อง
บางทีมันก็ต้องมีบทพูดในใจ เพื่ออธิบายเรื่องราวบางอย่าง ถ้าในบทจำเป็นต้องมีฉากที่ตัวละครพูดในใจ ก็จะเป็นแบบพูดในใจจริงๆ จะมีเสียงของตัวละครดังขึ้นมา แต่ปากจะไม่ขยับ แสดงให้เห็นว่า นี่คือคิดในใจจริงๆ นะ หรืออีกวิธีหนึ่งที่ละครญี่ปุ่นชอบใช้คือ มี “Narrator” หรือ “ผู้เล่าเรื่อง” มาช่วยในการอธิบายค่ะ เพื่อให้คนดูเข้าใจถึงที่มาที่ไปของละครมากขึ้น หรือเหตุผลของการกระทำของตัวละครที่ไม่สามารถอธิบายผ่านบทสนทนาได้ ก็จะมีผู้เล่าเรื่องเป็นคนทำหน้าที่แทนค่ะ ก็จะออกมาในลักษณะที่ว่า ในขณะที่เรื่องดำเนินไป ก็จะมีเสียงคนคนหนึ่งดังขึ้นมา อธิบายเรื่องราวของละครเรื่องนั้นๆ เพิ่มเติม ละครตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ “Hanzawa Naoki” ที่จะมีเสียงผู้หญิงคอยอธิบายความรู้เกี่ยวกับอาชีพของนายธนาคาร เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนดู ดูไปแล้วจะได้ไม่งง

อาจมีคนมองว่าการเพิ่มผู้เล่าเรื่องเข้ามาเนี่ยจะทำให้เกิดความรำคาญหรือเปล่า ถ้ามองอีกแง่หนึ่งจะเห็นว่า ผู้เล่าเรื่องบางทีก็เป็นสิ่งที่ทำให้ละครดูมีสีสันขึ้นมาค่ะ  อย่างเช่นเรื่อง “First Class” ที่ทุกตอนของละคร จะมีเสียงเจ๊คนหนึ่งออกมาพูดแบบแซบๆ ก่อนเปิดเรื่อง

 


“Hi สวัสดีทุกคน ฉัน LiLiCo เอง!”


นอกจากนางจะมาเล่าเรื่องของตอนที่แล้ว (บวกกับสปอยล์เรื่องตอนต่อไป) นางก็ยังแสดงความคิดเห็นไปด้วย เหมือนเป็นเพื่อนที่คอยอยู่ดูละครกับเราไปทุกตอนจนจบ ถือว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้ละครน่าติดตามค่ะ 


5. หยอดจุดไคลแม็กซ์กันความเบื่อ
ความสนุกของละครญี่ปุ่นอีกอย่างก็คือ “จุดไคลแม็กซ์” ค่ะ ทุกตอนของละครจะมีจุดไคลแม็กซ์ด้วยเสมอ ไม่จำเป็นว่าในละครเรื่องหนึ่งจะต้องมีจุดไคลแม็กซ์แค่เพียงที่เดียว แต่สามารถแทรกไปทุกๆ ตอนได้ จากลักษณะของละครญี่ปุ่นที่มักจะเป็นแบบ “Renzoku” หรือละครต่อเนื่อง ที่มีทั้งแบบต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ต้องดูให้จบถึงรู้เรื่องราว กับแบบ “1 wa kenketsu keishiki” Renzoku แบบมีบทสรุปใน 1 ตอน ละครแนวนี้ก็จะมีโครงสร้างเหมือนเรื่องสั้นเลยค่ะ ที่จะมีจุดเริ่มต้น จุดไคล์แมกซ์ และจุดคลี่คลายจบในตอน แต่ที่ต่างออกไปคือ ยังไม่ถือว่าเป็นจุดจบของเรื่องทั้งหมด เนื้อเรื่องหลักก็ดำเนินต่อไป ส่วนเรื่องราวของตอนย่อยๆ ก็จบลง

 


“Subete ga F ni Naru” ใช้ภาพนี้ เพราะอยากดูเรื่องนี้เป็นพิเศษค่ะ อิอิ


ละครที่มีลักษณะนี้จะพบเห็นได้มากตามละครสืบสวนสอบสวน แต่เดี๋ยวนี้ตามละครชีวิต ละครครอบครัว หรือแนวอื่นๆ ก็ใช้ลักษณะนี้ในการดำเนินเรื่องด้วย จากการดำเนินเรื่องเช่นนี้ ทำให้ละครญี่ปุ่นไม่ค่อยน่าเบื่อสักเท่าไรค่ะ อย่างน้อยๆ ในตอนหนึ่งก็มีจุดมันส์ๆ สักจุดรอเราไว้อยู่ ไม่จำเป็นต้องดูไปหลายๆ ตอน ถึงจะเจอจุดไคลแม็กซ์ ถือว่าเป็นการดำเนินเรื่องอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจสุดๆ ค่ะ

และนี่ก็คือการดำเนินเรื่องตามสไตล์ละครญี่ปุ่น ที่มีส่วนช่วยเพิ่มความสนุก ความน่าสนใจให้กับคนดูนอกเหนือไปจากบทและพล็อต แม้จะดูเป็นจุดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ละครน่าดูขึ้นมาเลยทีเดียวค่ะ ^^


เรื่องโดย : ChaMaNow www.marumura.com

ที่มา  http://www.marumura.com/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X