ลบความเชื่อผิดๆ สร้างสังคมใหม่เรื่องเพศ (ที่สาม)
2014-10-30 14:22:22
Advertisement
คลิก!!!

       แม้ว่าครอบครัวส่วนใหญ่จะเริ่มเปิดใจกว้าง และยอมรับลูกหลานเพศที่สามกันได้มากขึ้น แต่เชื่อว่า หลายๆ คนยังคงมีเรื่องคาใจกับความเชื่อบางประการ ซึ่งทำให้ยากที่จะอดห่วง หรือยากที่จะเต็มใจยอมรับได้ วันนี้ทีมงาน Life & Family จึงขอรวบรวมความเชื่อเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันที่หลายคนยังมีความเชื่อผิดๆ ให้เกิดความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ถูกต้องมาฝากให้อ่านกัน ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ดังต่อไปนี้ 
       
       คู่รักเพศเดียวกัน หึงโหดจริงหรือไม่
       
       อารมณ์หึงหวงที่รุนแรงนั้น ขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละบุคคล ไม่ได้จำกัดเฉพาะคู่ที่รักเพศเดียวกันเท่านั้น จากงานวิจัยและวิทยานิพนธ์หลายเล่มที่รวบรวมข่าวเกี่ยวกับหญิงรักหญิง พบว่า หนังสือพิมพ์ปรากฏข่าวความขัดแย้ง การใช้ความรุนแรงของคู่รักหญิงรักหญิง ซึ่งความเป็นจริงแล้ว เป็นการมองเพียงด้านเดียว อีกทั้งความถี่ในการใช้ความรุนแรงของคนรักเพศเดียวกันก็มีน้อยกว่าข่าวความรุนแรงในชีวิตคู่รักต่างเพศด้วย (มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องผู้หญิง, 2548 : 57) แต่สื่อลงข่าวในด้านเดียว ทำให้เกิดอคติและเหมารวมว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นแบบนั้นไปทั้งหมด จากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนหญิง พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวตามข่าวหนังสือพิมพ์ปี 2552 มีปัญหาความรุนแรง การฆาตกรรมในครอบครัวที่เกิดจากสามีกับภรรยา และโดยเฉพาะที่ผู้ชายเป็นฆาตกรสูงถึง 82 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนรักต่างเพศที่มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน ซึ่งพบว่ามีมากกว่าคู่ของคนรักเพศเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต่างจากข่าวของคนรักเพศเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นข่าวที่เกิดขึ้นน้อย แต่ได้รับความสนใจมากกว่าจนทำให้คนในสังคมเห็นแต่ด้านไม่ดี
       
       ชอบเพศเดียวกัน ป่วยทางจิตหรือไม่
       
       ประเด็นคำถามนี้ ทางสมาคมจิตแพทย์อเมริกันได้ประกาศลบหัวข้อ “การรักเพศเดียวกัน” ออกจากบัญชีจำแนกโรคและอาการผิดปกติทางจิตในปี พ.ศ.2516 แล้ว และในปี พ.ศ.2535 องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศถอดถอนการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีจำแนกโรคด้วยเช่นกัน ส่วนในประเทศไทย นักสิทธิมนุษยชน องค์กรของหญิงรักหญิง ชายรักชาย ได้ออกมาให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องกับความเป็นจริง ว่า ไม่ใช่ความผิดปกติ จนในปี พ.ศ.2545 กรมสุขภาพจิตได้พิจารณาถอดถอนลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิตเช่นเดียวกัน การรณรงค์มีความต่อเนื่องจากจนถึงปัจจุบันเพื่อให้สังคมไทยยอมรับการมีอยู่ และตัวตนของคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น อยากให้ดูว่า หญิงรักหญิง ชายรักชาย ต่างก็มีสติปัญญาและจิตใจสมบูรณ์เทียบเท่าหญิงและชายที่รักต่างเพศ ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ไม่ว่าจะรักชอบเพศใดก็ตาม การรักชอบเพศเดียวกันเป็นรสนิยมทางเพศไม่ได้เกิดจากการป่วยทางจิต


        ชายรักชาย หญิงรักหญิง เรียกว่า “ปกติ” หรือไม่
       
       ถ้าคำว่า “ปกติ” หมายถึง เป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ หญิงรักหญิง ชายรักชาย ก็ถือว่าไม่ปกติ แต่ถ้าเรายอมรับแนวความคิดนี้ เราก็ต้องเรียกคนถนัดซ้ายว่าไม่ปกติด้วยเช่นกัน เพราะความแตกต่างทางร่างกายนั้น เป็นเรื่องปกติ ธรรมดา รสนิยมทางเพศ หรือเพศทางเลือกก็เช่นเดียวกับคนถนัดซ้ายซึ่งไม่ได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของใครลงแต่อย่างใด คนที่รักเพศเดียวกันก็ปรารถนาที่จะให้และรับความรัก อีกทั้งอยากช่วยเหลือสังคม และเป็นคนดีเช่นกัน ถ้า “ปกติ” ที่หมายถึงความเป็นมนุษย์และความมีคุณค่าในตัวเองก็ต้องบอกว่า “ปกติ” แน่นอน
       
       เห็นได้จากคนรักเพศเดียวกันรายหนึ่ง เปิดใจถึงชีวิตคู่ของพวกเขาว่า “เราใช้ชีวิตเหมือนทุกคนบนโลก เหมือนเราชอบกินก๋วยเตี๋ยว ในขณะที่คนอื่นชอบกินข้าว การชอบผู้หญิงด้วยกันก็เป็นรสนิยมอย่างหนึ่งเช่นกัน” เช่นเดียวกับอีกคู่ที่อยากให้สังคมเข้าใจว่า หญิงรักหญิง หรือชายรักชายเป็นรูปแบบหนึ่งของธรรมชาติ การรักเพศเดียวกันมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก แต่มีสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนโลกคือ มนุษย์บางคนที่มองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดปกติและตั้งข้อรังเกียจกัน
       
       ท้ายนี้ ทีมงานอยากวอนขอให้สังคมบางกลุ่มที่ยังมีอคติต่อคนกลุ่มนี้ ค่อยๆ เปิดใจและเห็นว่า “รสนิยมทางเพศไม่ได้มีผลหรือตัดสินคุณค่าของคนได้เท่ากับการกระทำ” เรามาลบความเชื่อผิดๆ เพื่อสร้างสังคมใหม่เรื่องเพศกันเถอะครับ
       
       ///////////////////
       
       หยิบยกข้อมูลบางส่วนมาจากหนังสือ “เรื่องไม่ลับฉบับเลสเบี้ยน” จัดพิมพ์โดย โครงการกัลยาสโมสร แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X