จับตามังกรซื้อระบบขีปนาวุธต้านอากาศยานจากหมีขาว สะเทือนดุลอำนาจในเอเชีย
2014-09-03 16:42:02
Advertisement
คลิก!!!

ระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน S-400 ของรัสเซีย - เอเอฟพี

 

       เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนเตรียมซื้อระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานทันสมัยจากรัสเซีย ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า อันที่จริงนั้น รัฐบาลปักกิ่งไม่จำเป็นต้องซื้อก็ได้ เพราะมีอาวุธดีอยู่แล้ว แต่ที่ทำไป เพราะพญามังกรเล็งผลเลิศหลายชั้น
       
       ความสัมพันธ์ด้านการทหารระหว่างพญามังกรกับหมีขาว ที่นับวันจะแนบแน่นมากขึ้นทุกที ทำให้ชาติเพื่อนบ้านของจีนพากันนั่งไม่ติดเก้าอี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการคุยกันกระหนุงกระหนิงเรื่องการซื้อระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน S-400 จากรัสเซีย ที่เนิ่นนานมาตั้งแต่ปี 2553 และทุกคนจับตามองมาโดยตลอดนั้น กำลังจะกลายเป็นความจริง
       
       “โอกาสที่จีนอาจเป็นผู้ซื้อ ( s-400) ต่างชาติรายแรกมีสูงครับ” สำนักข่าววอยซ์ ออฟ รัสเซีย ซึ่งเป็นทางการ รายงานคำพูดของนายเซอร์เก อีวานอฟ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของทำเนียบเครมลินเมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา 
       
       ถ้าข้อตกลงฉบับนี้ได้รับการเห็นชอบจริงก็จะเป็นข้อตกลงซื้อขายอาวุธครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 ของชาติทั้งสอง นับตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา
       
       ระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน เอส -400 ไทรอัมพ์ (s-400 Triumph) เป็นระบบรุ่นใหม่ ที่พัฒนามาจากระบบเอส-300 (S-300) ซึ่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยสามารถต้านทานอาวุธโจมตีทางอากาศของข้าศึกได้ทุกรูปแบบ รวมทั้งเครื่องบินทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ตลอดจนขีปนาวุธ หรือเป้าหมาย ที่มีความเร็วเหนือเสียง เช่น เครื่องบินขับไล่เอฟ-35 ของสหรัฐฯ 
       
       เขี้ยวเล็บของมันยังไม่หมดเท่านั้น เพราะด้วยพิสัยยิงได้ไกลถึง 2,400 กิโลเมตร ระบบเอส-400 ยังสามารถสกัดการจู่โจมพร้อมกันได้ถึง 36 เป้าหมายด้วยขีปนาวุธ ที่มีมากถึง 72 ลูก และยิงได้ที่ระดับความสูง 5 เมตร ถึง 30 กิโลเมตร
       
       นักวิเคราะห์ด้านการทหารของมูลนิธิวิจัยนักสังเกตการณ์ ( Observer Research Foundation) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมอง ตั้งอยู่ในกรุงนิวเดลี ของอินเดียระบุว่า อินเดียเป็นชาติ ที่พึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียอยู่มาก และข้อตกลงขายอาวุธทันสมัยของรัสเซียฉบับนี้ได้เพิ่มความวิตกกังวลแก่อินเดีย เพราะสะท้อนว่า รัสเซียกำลังสนใจชาติ ที่มีพลังขับเคลื่อนรายใหม่ นอกเหนือไปจากอินเดีย อีกทั้งข้อตกลงฉบับนี้ยังทำให้สมดุลทางอำนาจในเอเชียต้องเปลี่ยนโฉมหน้าไป 
       
       หวัง สีว์ตง ที่ปรึกษาฝ่ายดาวเทียมของรัฐบาลปักกิ่งเปิดเผยว่า จีนเองก็มีอาวุธและระบบขีปนาวุธทันสมัยอื่น ๆ อยู่แล้ว เช่น ขีปนาวุธต่อต้านเรือ DF-21D ซึ่งมีฉายาว่า เพชฌฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน และขีปนาวุธ DF-41 ซึ่งมีพิษสงร้ายกาจขนาดโจมตีเป้าหมายใด ๆ ก็ได้ในดินแดนมะกัน
       
       อย่างไรก็ตาม จีนต้องการซื้อระบบขีปนาวุธดังกล่าวเป็นการยื่นหมูยื่นแมวกับรัสเซีย ที่ต้องการได้เงินทุนสำหรับงานวิจัยจากจีน 
       
       ขณะเดียวกับระบบขีปนาวุธ S-400 ยังทำให้หญามังกรมีอาวุธเพิ่มเข้ามาให้เลือกใช้ในยามจำเป็น นอกจากนั้น ยังไม่ต้องเสียเวลาในการผลิตอาวุธทันสมัยขึ้นมาใหม่ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้กำลังร้อนระอุ
       
       นายหวัง ตง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในมาเก๊าชี้ว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะกระตุ้นให้สหรัฐฯ รีบกระชับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือแม้กระทั่งไต้หวันให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม โดยสหรัฐฯ คอยเฝ้ามองความร่วมมือระหว่างพญามังกรกับหมีขาวอย่างไม่คลาดสายตา
       
       การตัดสินใจของชาติตะวันตก ที่โดดเดี่ยวรัสเซีย เพื่อลงโทษที่รัสเซียช่วยเหลือฝ่ายกบฎในยูเครนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้หมีขาวต้องหันมาหาจีน
       
       “ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกำลังเตรียมศึกษาเทคโนโลยีจากระบบS-400 ผมคิดว่า จีนจะผลิตขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานรุ่นใหม่ได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะศึกษาเทียบเคียงจากระบบS-400 เพราะจีนเป็นนักก็อปปี้ (เก่ง)” นายหวังคาดการณ์ 
       
       นอกจากข้อตกลงฉบับสำคัญนี้แล้ว สำนักข่าวของรัฐบาลชาติทั้งสองยังรายงาน โดยมีการคาดการณ์กันว่า ชาติมหาอำนาจเพื่อนซี้อาจเตรียมร่วมมือกันพัฒนาเครื่องบินลำเลียง Il-476 และเครื่องบินเติมน้ำมันเชื้อเพลิงกลางอากาศ IL-78 ในอนาคตอีกด้วย
 

 

ที่มาhttp://manager.co.th

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X