Like Father, Like Son อยากได้ “ชนะ” หรือ “ความรัก”
2013-12-26 15:49:40
Advertisement
คลิก!!!

คอลัมน์ “หนังช่างคิด” OLDBOY บางคูวัด 

 

Hirokazu Koreeda ผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือเยี่ยมสัญชาติญี่ปุ่น ถูกชักชวนให้กลับมาเยี่ยมเยียนคอลัมน์นี้อีกครั้ง พร้อมกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุด Like Father, Like Son

 

 

 


 ถือเป็นงานเล่าเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่คลี่คลายและอบอุ่นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ  I Wish (2011)


 ไม่อ้างว้าง เปลี่ยวเหงา ชวนหดหู่เหมือนกับงานรุ่นก่อนอย่าง Air Doll (2009) หรือ Nobody Knows (2004)


 แต่ก็ยังคงรูปแบบและสไตล์ของภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่เนิบช้า ให้เวลาในการใช้ “ภาพ” บอกเล่า ถ่ายถอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ไม่บีบเค้นให้ต้องดราม่าฟูมฟาย เช่นเดียวกับการแสดงที่ไม่ต้องมากหรือล้นเกิน


 ภายใต้โครงสร้างบทและพล็อตเรื่องที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีอะไรใหม่หรือท้าทายHirokazu Koreeda กลับปะติดปะต่อเรื่องราวเพื่อนำเสนอประเด็นมากมายให้ผู้ชมกวาดเก็บกลับไปคิดทบทวน

 

 2 ครอบครัวที่ต่างก็มีลูกชายวัยกำลังน่ารัก  ถูกโรงพยาบาลเรียกมาพบเพื่อแจ้งว่าเมื่อ 6 ปีก่อนหน้านี้ พวกเขาได้เด็กสลับตัวกันกลับไปเลี้ยง


 ครอบครัวของ  เรียวตะ และมิโดริ (รับบทโดย Masaharu Fukuyama , Machiko Ono) มีลูกชายชื่อ เคย์ตะ(รับบทโดย Keita Ninomiya) นี่คือตัวแทนของ “คนเมือง” ที่มีเป้าหมายในชีวิตเข้มข้น ชัดเจน ฐานะดี มีการศึกษา หน้าที่การงานมั่นคง พักอาศัยในห้องชุดระดับหรูย่างดาวน์ทาวน์ และแน่นอนว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะให้ เคย์ตะ เป็นเลิศในทุกด้าน

 

 
 
 
 
 

 

ส่วนครอบครัวของ ยูได และ ยูคาริ (รับบทโดย Lily Franky , Yoko Maki) มีลูกชายชื่อ ริวเซย์ (รับบทโดย Shogen Hwang) และน้องอีกสองคน นั้น คือครอบครัวชานเมืองกึ่งชนบท ยูไดเป็นเจ้าของร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมทั้งเป็นช่างซ่อมในตัว สถานะทางการเงินไม่ถึงกับเดือดร้อนแร้นแค้น แต่ก็ไม่มากพอจะขับรถหรูคันใหญ่ หรือคิดไปไปถึงขนาดตั้งเป้าหมายจะยกระดับชีวิต หรือปั้นลูกชาย ริวเซย์ “ให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด” อะไรทำนองนั้น

 


ปมขัดแย้งและท้าทายถูกเล่าผ่านอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนภูมิหลังของ เรียวตะ เป็นหลัก ชายหนุ่มวัยกลางคน หัวหน้าครอบครัวผู้ทุ่มเทเพื่อให้ทุกอย่าง “เพอร์เฟ็กต์” ทั้งหน้าที่การงาน ฐานะ ครอบครัว น่าจะเป็นตัวแทนของ “ชายชาวญี่ปุ่น” และผู้ชายวัยทำงานทั่วโลกในสังคมปัจจุบันก็ว่าได้


เมื่อถึงจุดที่ เรียวตะ ต้องตั้งคำถาม ทบทวน ความสับสนก็ค่อยๆ เผยจุดอ่อนมากมายในตัวเขา ระหว่างเด็กที่เขารัก-เลี้ยงและผูกพันมานาน 6 ปี กับเด็กอีกคนหนึ่งซึ่งเป็น “สายเลือดแท้ๆ” เขาตัดสินใจเลือกด้วยเหตุผลและวิธีคิดชุดหนึ่ง


เป็นเหตุผล ตรรกะ และจุดมุ่งหมายที่ไม่มี “ความรัก” หรือ “ความผูกพัน” เป็นองค์ประกอบหลัก


ก่อนที่จะค่อยๆ เรียนรู้ว่า เคย์ตะ ลูกชายของเขา อาจไม่ได้เก่งเพราะไม่ใช่ “สายเลือดแท้” ไม่มีพรสวรรค์ ไม่ได้มุ่งมั่นเหมือนเขา สิ่งเดียวที่ เคย์ตะมีคือ ความรักที่มีให้ต่อ “ปาป๊า” หมดหัวใจ ยอมทำได้ทุกอย่าง(แม้กระทั่งภารกิจในการแยกจาก) ด้วยหวังว่า นั่นจะทำให้พ่อมีความสุข


แน่นอนว่า ยังมีปมสับสันในจิตใจของคนเป็นแม่ มิโดริ ภรรยาของเรียวตะก็แทบจะเป็นตัวแทนของผู้หญิงญี่ปุ่นที่เป็นแม่ เป็นแม่บ้าน พร้อมกับแบกรับความอึดอัดคับข้องใจอย่างไร้ปากเสียง


มีการสะสางปมระหว่าง เรียวตะ กับพ่อของเขาเองที่ตั้งแง่ ตั้งป้อมกันมานาน


แต่ท้ายที่สุด ผมยังชอบประเด็นการเปรียบเทียบระหว่างทั้ง 2 ครอบครัว เพื่อที่จะตั้งคำถามกับ “คุณค่า” ของชีวิตว่าคืออะไรกันแน่


ระหว่างคำชมเชยจาก “เจ้านาย” กับเวลาอบอุ่นแสนสนุกที่ได้เล่นกับ “ลูกชาย”

 

 


ระหว่าง “ความสำเร็จ” ที่ถูกกำหนดบรรทัดฐานโดยค่านิยมสังคมเมือง เช่น เรียนหนังสือเก่ง,เล่นเปียนโนเยี่ยม,สอบเข้าโรงเรียนดีๆ ฯลฯ กับ “ความสุข” ที่ได้ใช้ชีวิต ได้เล่นสนุก ได้หัวเราะ ในทุกๆ ครั้งที่มีโอกาส


ระหว่าง “ชัยชนะ” ที่ต้องต่อสู้ ทุ่มเท โดยไม่สนใจว่าจะใช้วิธีการไหน หรือต้องใช้อะไรบ้างแลกมา กับ “ความรัก” ความผูกพัน ความรู้สึก ที่ต้องใช้เวลาในการสานสร้าง บ่มเพาะ เพื่อที่จะใช้มันหล่อเลี้ยงชีวิตไปในระยะยาว


ไม่น่าแปลกใจที่ Like Father, Like Son คือภายยนตร์ที่ชนะใจผู้ชมในทุกภูมิภาค กลายเป็นกระจกสะท้อนให้คนทั่วโลกได้ย้อนมองและทบทวนตัวเอง พร้อมทั้งกวาดรางวัลต่างๆ มากมายรวมถึง Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อกลางปี 2556 ที่ผ่านมา


ถึงที่สุดแล้วผมถือวิสสะสรุปเอาเองว่า ผู้กำกับฯ Hirokazu Koreeda จงใจสื่อสารกับเราว่า ชีวิตหรือครอบครัวจะเป็นอย่างไร จะเดินไปทางไหน  เราเป็นคนเลือกได้... เรามีสิทธิ์เลือก


บางคนอาจเลือกที่จะต่อสู้เพื่อ “ชัยชนะ”


แต่ก็คงมีบ้างที่เลือกกลับไปวิ่งในสนามเด็กเล่น นอนเต้นท์ กอดกันมองดาวในคืนหนาวที่ฟ้าใส


ผมก็เลือกอย่างหลังครับ...

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X