FTA Watch ลั่นชุมนุมใหญ่ 18-19 ก.ย. หวั่นอียูเอาเปรียบเกษตรกรไทย
2013-09-15 08:09:07
Advertisement
คลิก!!!

กลุ่มข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ประกาศชุมนุมใหญ่ วันที่ 18-19 กันยายน 2556 เพื่อจับตาการเจรจาการค้าเสรีระหว่าง ไทย-ยุโรป (EU) รอบ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมงัดข้อมูลโชว์ ยา-เมล็ดพันธุ์ แพงแสนล้าน กระทบเกษตรกรทั่วประเทศ หวั่นทีมเจรจาตัดสินใจผิดพลาด

            จากการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU) ที่เตรียมจัดขึ้นรอบ 2 ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน พ.ศ. 2556 ณ โรงแรมเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ หลังจากเคยเจรจารอบแรกไปเมื่อวันที่ 27-31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แล้วนั้น

            เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556 กลุ่มข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ก็ได้ออกมาประกาศชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556 เพื่อร่วมกันติดตามการเจรจาครั้งสำคัญนี้ เพราะถือเป็นการเจรจาที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และยารักษาโรค

            โดย นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ใน 3 เรื่องหลัก จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวคือ

            1. ต้องเป็นภาคี UPOV 1991
            2. ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปส
            3. ยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต

            ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคิดเป็น 10% ของความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยเฉพาะประเด็นที่จะให้ไปเป็นภาคี UPOV 1991 จะมีผลให้เกษตรกรต้องจ่ายพันธุ์พืชในราคาที่แพงขึ้น อ้างอิงจากงานวิจัยพบว่า ราคาพันธุ์พืชจะขึ้นอย่างต่ำ 2-3 เท่า จนถึง 6 เท่า

            จากมูลค่า 28,000 ล้านบาท ในตอนนี้ ก็จะเพิ่มเป็นอย่างต่ำ 80,000 ล้านบาท และอาจถึง 140,000 ล้านบาทต่อปี ไม่คุ้มค่ากับการได้ต่อสิทธิ GSP ที่ทางการไทยประเมินว่าจะสูญเสียแค่ 34,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น อีกทั้งยังไม่รวมเรื่องจุลินทรีย์และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเมินค่าไม่ได้ด้วย

            ทั้งนี้ผลกระทบที่เกษตรกรไทยจะได้รับ คือ ต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น และการเก็บรักษาพันธุ์พืชเอาไว้ปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยน จะกลายเป็นมีความผิดถึงขั้นจำคุก ทั้งยังต้องจ่ายค่าเสียหายด้วย นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชน ก็ไม่สามารถปรับปรุงพันธุ์พืชได้ ยกตัวอย่างเช่น วิสาหกิจชุมชน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ก็อาจต้องเลิกประกอบกิจกรรมไปในที่สุด
 


            ซึ่งหากประเมินแล้ว ผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP มีน้อยกว่า และส่วนใหญ่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นอุตสาหกรรมข้ามชาติ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์, ส่งออกอาหารไก่-กุ้ง เป็นต้น แต่หากต้องแลกด้วยความเสียหายของเกษตรกรที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท ถือเป็นผลประโยชน์ที่ไม่คุ้มค่า ดังนั้น ทาง FTA Watch จึงออกมาเคลื่อนไหว เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจจากจุดยืนของเกษตรกร และประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม

            ขณะที่ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ระบุว่า จากเอกสารขององค์การอาหารและยา (อย.) ข้อตกลงการค้าเสรีในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญา จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดเป็นเวลานาน ราคายาจะแพงขึ้นมาก ประเทศชาติจะต้องแบกรับภาระด้านยาเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล และประชาชนก็จะไม่สามารถเข้าถึงยาได้ จนส่งผลกระทบระดับประเทศ และผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะอยู่กับบริษัทยาข้ามชาติเท่านั้น ซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่รับได้มีเพียงวิธีเดียว คือยาที่ติดสิทธิบัตร จะต้องมาตั้งโรงงานและผลิตในประเทศไทย

            ส่วน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่เอารัดเอาเปรียบของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องทรัพยากรชีวภาพนั้น เป็นประเด็นที่ไปคุยกับคนทุกสีเสื้อที่มีความเห็นต่างกันทางการเมือง ก็มีความรู้สึกร่วมว่า เป็นเรื่องที่อยู่เฉยไม่ได้ และเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องระมัดระวัง เราต้องส่งเสียงในฐานะคนของสังคมให้หัวหน้าคณะเจรจารับรู้ว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรม เหมือนการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจยุคใหม่

            อีกทั้งยังเป็นการส่งเสียงบอกรัฐบาลไทย ว่าจุดยืนของประเทศครั้งนี้สำคัญมาก เพราะรัฐบาลบอกเสมอว่าจะเจรจาไม่ให้มีปัญหากระทบการเข้าถึงยา ไม่กระทบเกษตรและทรัพยากรของประเทศ ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งตื่นแล้ว เราจึงอยากชวนคนอื่นให้มากขึ้น

            สำหรับการชุมนุมจับตาเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ของกลุ่ม FTA Watch จะจัดขึ้นในวันที่ 18-19 กันยายน พ.ศ. 2556 ที่ลานท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยจะมีกิจกรรมเรียนรู้อิสรภาพทางพันธุกรรมผ่านการรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจากทั่วประเทศ กิจกรรมศิลปะรณรงค์เพื่ออธิปไตยทางพันธุกรรม กิจกรรมเรียนรู้แบบ Interactive เรื่องผลกระทบเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ในประเด็นต่าง ๆ และมหกรรมตลาดเกษตรอินทรีย์ด้วย
 

 

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X