รู้จัก ฝ้าขาว ใน น้ำประปา
2012-10-08 15:27:01
Advertisement
คลิก!!!

น้ำประปา



รู้จักฝ้าขาวในน้ำประปา (ไทยรัฐ)

          "สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด" วลีสั้น ๆ นี้ อาจนำมาใช้ได้กับน้ำประปา อย่างน้อยก็ในกรณีที่เราเห็นว่ามี ฝ้าบางๆ จับอยู่ที่ผิวน้ำ แล้วคิดว่ามันไม่สะอาด

          แต่การประปานครหลวง (กปน.) อธิบายว่า เมื่อรองน้ำประปาแล้วเห็น ฝ้าบาง ๆ นั้น แท้จริงเป็นตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนต แร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำตามธรรมชาติ ที่ส่งผลให้น้ำมีความกระด้างเจือปน ไม่เกี่ยวกับการเป็นนิ่วหรือน้ำไม่สะอาดแต่อย่างใด

          นายชัชชาย อาศุเวทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพน้ำ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกยืนยันแล้วว่าน้ำประปาที่การประปานครหลวงให้บริการนั้น ได้คุณภาพตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก นำมาใช้ดื่มได้อย่างปลอดภัย ฝ้าขาวๆ ที่ปรากฏให้เห็นนั้น เกิดจากตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีอยู่ในน้ำตามธรรมชาติ ถูกความร้อนจากแสงแดดหรือสภาพแวดล้อมจากภายนอก พอนานๆ เข้าเกิดการตกตะกอนรวมตัวกันเป็นฝุ่นเล็ก ๆ สีขาว ๆ ที่เห็นเป็นฝ้าเกาะอยู่บนผิวน้ำ นั่นเอง (มักจะเห็นบ่อย ๆ เวลาเปิดตุ่มน้ำ ต้องใช้ขันเกลี่ยฝุ่นขาวนั้นพร้อมกับตักทิ้งไป) หากนำไปต้มด้วยความร้อนสูงจนเดือด ความร้อนที่ถึงจุดเดือดนี้จะทำให้แคลเซียมเหล่านี้ ตกตะกอนกลายเป็นตะกรัน เกาะอยู่ตามภาชนะที่ใช้ต้มน้ำ ยิ่งทำให้เข้าใจผิดไปอีกว่าตะกรันที่พบนั้น อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคนิ่วในคนได้

          ความจริงตะกรันในน้ำประปาไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นนิ่ว เพราะอุณหภูมิในร่างกายคนเราไม่สูงพอที่จะทำให้แคลเซียมในน้ำประปา ที่ดื่มเข้าไปตกตะกอนกลายเป็นตะกรันไปอุดตันในร่างกาย ที่จริงแล้วมันกลับเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน เหมือนที่เราดื่มนมมากๆ เพื่อให้ได้แคลเซียมในปริมาณที่ต้องการ ซึ่งในน้ำประปาก็มีแคลเซียมเหมือนกัน แต่คนกลับกลัวเพราะเข้าใจผิดไปเอง

          ส่วน สาเหตุของโรคนิ่วนั้น เกิดจากการรวมตัวของเกลือแร่ที่มีอยู่ในน้ำปัสสาวะ อาจจะเป็นเกลือฟอสเฟต เกลือคาร์บอเนตของแคลเซียม หรือแมกนีเซียม หรืออาจจะเป็นกรดยูริค หรือแคลเซียมออกซาเลต โดยปกติน้ำปัสสาวะละลายผลึกของเกลือเหล่านี้ได้ แต่ถ้ามีความไม่สมดุลจากการบริโภคอาหารเกิดขึ้น เกลือพวกนี้จะตกตะกอน และรวมตัวเป็นก้อนนิ่ว

          ก็เป็นอันสบายใจได้ว่า การดื่มน้ำประปาไม่ทำให้เป็นนิ่วอย่างแน่นอน หากยังสงสัยหรือกังวลใจเกี่ยวกับการดื่มน้ำประปา โทร. 1125 มีนักวิทยาศาสตร์ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X