ทันตแพทยสภา เล็งลงโทษ ทพญ.หนีทุน มหิดล ส่งหนังสือถึงผู้ตรวจการฮาร์วาร์ด
2016-02-09 19:08:46
Advertisement
คลิก!!!

ทพ.ธรณินทร์ จรัสจรุงเกียรติ นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่หนีการใช้ทุน จนผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินแทน ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการสร้างความเสียหายแก่วิชาชีพทันตแพทย์ นอกจากนี้ กรณีที่เกิดขึ้นอาจต้องมีการพิจารณาด้วยว่ากรณีนี้จะส่อไปในทางฉ่อโกงด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในการจะตรวจสอบนั้น เบื้องต้น ต้องมีผู้กล่าวโทษก่อน แต่ขณะนี้ผู้เสียหายเองก็ยังไม่มีการกล่าวโทษ  ดังนั้น แนวทางที่จะดำเนินการต่อไป คือ ให้กรรมการของทันตแพทยสภา ซึ่งอาจจะเป็นเลขาธิการทันตแพทยสภา หรือรองเลขาธิการทันตแพทยสภา ดำเนินการกล่าวโทษขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นจึงจะส่งเรื่องให้กับคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

 

นายกทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า โดยในการกล่าวโทษนั้นจะใช้หลักฐานข้อมูลจากทางสื่อต่างๆ รวมถึงการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม ร่วมกับการเชิญผู้เสียหายที่เป็นคนค้ำประกันทั้ง 4 คน มาให้ปากคำและให้ข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังต้องมีการเรียกบิดาและญาติของ ทพญ.ดลฤดี มาร่วมให้ปากคำด้วย โดยในการพิจารณาโทษนั้นจะมีการหารือกันของกรรมการของทันตแพทยสภา ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาโทษจะแบ่งเป็น 4 ขั้นโทษ ได้แก่ 1.การว่ากล่าวตักเตือน  2.ภาคทัณฑ์  3.พักใบอนุญาต และ4.เพิกถอนในอนุญาต โดยผู้ที่จะตัดสินโทษ คือ กรรมการทันตแพทยสภา แต่เรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลพอสมควร

 

ด้านความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าว นพ.อุดม คชินทร  อธิการมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามหนังสือ ถึงผู้ตรวจการของคณะทันตแพทย์ฮาร์วาร์ด เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่ ทพญ.ดลฤดี  ไม่ยอมกลับมาทำงานใช้ทุน และยอมชำระเงินเพื่อชดใช้ทุน ตามที่ ทพ.เผด็จ ได้ร้องขอแล้ว  ซึ่งที่ผ่านมา มม.ไม่ได้ทำผิดขั้นตอน เพราะโดยหลักการต้องทำหนังสือถึงฝ่ายบริหารก่อน เพื่อให้ตรวจสอบ ส่วนที่ขณะนี้มีความสับสนในเรื่องการตั้งกรรมการสอบ ทพญ.ดลฤดี ของทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้น ก็คงต้องรอติดตามข่าวจากทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกันต่อไป มม.เองคงไม่ทำหนังสือไปสอบถามเพราะถือเป็นเรื่องภายใน 

 

ส่วนกรณีที่อนุมัติให้ ทพญ.ดลฤดี ลาออกในปี 2547 โดยมีผลย้อนหลังไปยังปี 2546 นั้น ยืนยันว่า ทำไปตามระเบียบ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2536  แต่ การอ้างระเบียบ ก.พ. ปี 2551 ในการแถลงข่าววันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเพียงการยกตัวอย่าง เพราะเหตุผลและหลักการของอนุมัติให้ลาออก เป็นไปตามระเบียบเช่นเดียวกัน ยืนยันว่า ที่ผ่านมากรณีไม่กลับมาทำงานใช้ทุนตามสัญญา ไม่เคยมีการไล่ออกเพราะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง และสามารถติดตามเงินคืนได้ทุกราย  ไม่เคยมีใครไม่ชำระเงินคืนทุน และหนีไปแบบ ทพญ.ดลฤดี

 

ที่มา  ข่าวสดออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X