คลิก!!!
|
ผู้กำกับต้องปอง จันทรางกูร กล่าวถึงที่มาต่อการเขียนบทและกำกับหนัง “ปาดังเบซาร์” (I carried you home) เอาไว้ว่าเกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้รับฟังเรื่องราวของเพื่อนคนหนึ่ง ถึงคืนวันที่แม่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต และเรื่องราวความสัมพันธ์ของครอบครัว ทำให้ตัวเขาเกิดคำถามขึ้นในใจเกี่ยวกับผู้คนในเมืองใหญ่ว่าทำไมชีวิตถึงโดดเดี่ยวและห่างเหินกันไปเรื่อยๆ ซึ่งการไม่เปิดใจรับฟังปัญหา การพยายามเก็บปัญหาเอาไว้คนเดียวของคนในครอบครัว การอยากมีอิสระที่จะทำตามใจตัวเองโดยลืมนึกถึงคนที่รักเราอย่างมีเงื่อนไข คือสาเหตุหนึ่งในปัญหาเหล่านั้น และผู้กำกับต้องปองก็ได้สะท้อนออกมาให้เราเห็นเป็นภาพยนตร์และพาเราไปถึงเป้าหมายที่ต้องการจะบอกได้อย่างประสบความสำเร็จ ด้วยวิธีที่ไม่โฉ่งฉ่าง และมีศิลปะ
“ปาดังเบซาร์” เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับเลือกให้เป็นหนังเปิดเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพครั้งที่ 9 โดยผู้กำกับต้องปองร่วมเขียนบทกับปราเมศร์ ชาญกระแส และ ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับทุนเขียนบทและทำขั้นตนเบื้องหลังการถ่ายทำจาก Asian Cinema Fund ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งปูซาน และยังได้รับทุนจากกองทุนไทยเข้มแข็ง กระทรวงวัฒนธรรม ในการดำเนินสร้างหนังเรื่องนี้ด้วยครับ
หนังมีคุณสายป่าน อภิญญา สกุลเจริญสุข กับ คุณจักจั่น อคัมย์สิริ สุวรรณศุข รับบทเป็นสองพี่น้อง ป่านกับปิ่น ที่ร่วมกันเดินทางพาศพของแม่กลับไปทำพิธียังบ้านเกิดที่ปาดังเบซาร์ โดยหนังเปิดฉากที่การช่วยกันบรรทุกศพลงในรถของโรงพยาบาลเพื่อพาเดินทางออกจากกรุงเทพ มีพี่ต่อ (ต่อพงษ์ กุลอ่อน) เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นผู้ขับรถให้ จากนั้นหนังได้ค่อยๆ ย้อนเล่าให้เราเห็นว่าถึงรายละเอียดตัวละครพี่น้องคู่นี้
ป่านผู้น้องมาอาศัยอยู่กับน้าสาวเพื่อเรียนหนังสือในกรุงเทพ ป่านดูเหมือนจะแอบรำคาญน้าสาวอยู่บ้าง ดูจากคำพูดที่เธอบรรยายถึงน้าสาวว่า “ชอบเพ้อ” ซึ่งเป็นอาการนิสัยฟูมฟายของผู้ใหญ่ ป่านยังเอาแต่สนุกไปวันๆ ด้วยการโดดเรียน หนีเที่ยวห้าง สูบบุหรี่ และโกหกว่าจะทำตัวเป็นเด็กดี ส่วนปิ่นผู้พี่นั้นหนีการแต่งงานไปทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ แทบจะไม่ได้คุยกับแม่หรือติดต่อครอบครัวอีกเลย ซึ่งต่อมา หนังได้เผยว่าสาเหตุเพราะเธอเป็นรักร่วมเพศ กลัวว่าครอบครัวจะรับไม่ได้ และหนีไปมีชีวิตคู่กับเพื่อนหญิงที่นั่นแม้ว่าต้องทนกับชีวิตที่ต้องปากกัดเท้าถีบ อยู่ท่ามกลางสังคมที่ตึงเครียดและอึดอัดก็ตาม เหมือนกับเธอคิดว่าที่นี่น่าจะเป็นที่ที่เธอจะใช้ชีวิตตามที่ต้องการโดยไม่ให้ทางบ้านรู้ได้
ระหว่างที่นั่งรถไปด้วยกัน หนังยังได้เผยถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและปมต่างๆ ป่านรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำตัวเป็นเด็กดีให้แม่ แม่เดินทางมาจากสงขลาเพื่อมาหาเธอ แต่เธอกลับรำคาญและโกหกแม่ว่าต้องไปเรียนพิเศษ เธอมาทราบข่าวร้ายเรื่องแม่ก็ตอนที่นั่งสูบบุหรี่อยู่กับเพื่อนที่ลานจอดรถในห้างสรรพสินค้า เธอยังไม่พอใจปิ่นที่ไม่ยอมรับโทรศัพท์เพราะเธอหวังให้พี่สาวได้กลับมาดูใจแม่ก่อนตาย แต่ชีวิตของปิ่นก็วุ่นวายกับงานเกินกว่าจะมารับโทรศัพท์ได้ เมื่อรถเดินทางไปถึงสุราษฏ์ธานี รถถูกตำรวจจับเพราะไม่ได้นำใบมรณะบัตรติดมาด้วย จึงทำให้ทั้งหมดต้องนอนค้างโรงแรมที่นั่น พี่น้องคู่นี้จึงได้เริ่มรับรู้เรื่องราวของกันและกันมากขึ้น ได้ค่อยๆ เข้าใจกัน และรู้ว่าพวกเขาทั้งสองนั้นคล้ายคลึงกันมากกว่าที่คิด
เสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ก็คือการบอกเล่าแบบน้อย แต่ได้มาก หนังใช้ฉากเล็กๆ เพียงไม่กี่นาทีแต่สามารถสะท้อนอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับตัวละครและความสัมพันธ์ได้อย่างมากมาย เข้าใจง่าย และมีศิลปะ ยกตัวอย่างเช่นฉากที่น้าสาวให้ป่านคุยกับร่างที่ไม่รู้สึกตัวของแม่ ป่านนิ่งอึ้งและพูดไม่ออกว่าจะต้องพูดยังไงจนน้าสาวต้องมากำกับบท หรือฉากที่ปิ่นรับโทรศัพท์จากเพื่อนของแม่แล้วรู้ว่าวันที่พวกเขาเดินทางนั้นเป็นวันเกิดของแม่ ซึ่งเธอลืมไปนานแล้ว เป็นอะไรที่เล็กน้อย แต่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการที่ครอบครัวนี้แทบไม่ได้คุยกันเลย
การกำกับภาพก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งของหนังที่เอามาใช้ช่วยในการสะท้อนความอึดอัดของชีวิตของตัวละครเอกในเมืองใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวละครของป่านกับปิ่นมักมีกรอบล้อมพวกเขาอยู่เกือบตลอดเวลาในฉากของเมืองใหญ่จากหน้าต่างบ้าง จากรั้วเหล็กบ้าง หรือในบางช็อตที่รถวิ่งไปตามถนน ผู้กำกับก็เลือกใช้ภาพเงาสะท้อนอันบูดเบี้ยวของรถที่อยู่ในกรอบของกระจกตึกที่อยู่ด้านข้างแทน แต่เมื่อรถแล่นออกมาต่างจังหวัดแล้ว กรอบต่างๆ เริ่มหายไปจนเมื่อมาถึงปาดังเบซาร์ที่เป็นบ้านเกิดของตัวละคร ภาพของหนังจะเป็นมุมกว้างมากขึ้น กรอบที่มาครอบตัวละครเอกเอาไว้ได้หายไปหมด เป็นภาพที่ให้รู้สึกว่าสบาย โล่งและสุขใจ มันเป็นเหมือนตลกร้ายอยู่ในทีด้วยครับที่ตัวละครปิ่นและป่านต่างโหยหาความเป็นอิสระจากครอบครัวด้วยการไปอยู่ในเมืองใหญ่ แต่กลายเป็นว่าเมืองใหญ่กลับสร้างความอึดอัดใจได้มากกว่าการอยู่ที่บ้านเกิด
ช่วงเวลาที่อึดอัดที่สุดในหนังคือช่วงเวลาที่ตัวละครนั่งอยู่ในรถตู้ระหว่างที่จะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ตัวละครป่านกับปิ่นแทบไม่คุยกันเลย แต่ให้อารมณ์เหมือนทั้งคู่มีอะไรคาใจที่อยากจะคุยกันตลอดเวลา เป็นช่วงที่หนังมีบทสนทนาน้อย แต่เล่าเรื่องด้วยภาพเป็นส่วนใหญ่ ผู้ชมบางคนอาจไม่ชอบช่วงนี้เพราะมันดูเหมือนนิ่งเกินไป แต่ผมคิดว่าเป็นความนิ่งที่ผู้กำกับได้สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจความอึดอัดใจของตัวละครได้ดีมากและเป็นการเล่าเรื่องด้วยบรรยากาศของหนังได้ดีมาก และผู้ชมจะเห็นว่าระดับของความน่าอึดอัดก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อรถวิ่งไกลออกจากกรุงเทพฯ เรื่อยๆ
ความอึดอัดที่น้อยลงเมื่อรถแล่นออกไปจากกรุงเทพฯ นอกจากวิธีการกำกับภาพแล้ว ผู้กำกับยังฉลาดพอด้วยการลดความตึงเครียดด้วยการใส่ฉากขำๆ ที่เกิดจากคำพูดและบุคลิกของต่อด้วย แต่เสียดายที่บางครั้งฉากตลกเหล่านี้ดูจงใจให้ตลกมากเกินไป เหมือนใส่บทมาเพื่อให้ตัวละครพูดให้ตลกมากเกินไป และบางมุขตลกก็ดูจะไม่กลมกลืนกับหนังสักเท่าไหร่ คงจะดีกว่านี้ถ้าสามารถเขียนฉากตลกเหล่านี้ให้ดูเนียนและเข้ากับหนังมากขึ้น
หนังใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า I carried you home ซึ่งแปลว่า “ฉันพาเธอกลับบ้าน” เมื่อมองที่ฉากหน้าแล้วอาจหมายถึงการที่ลูกสาวสองคนพาแม่กลับไปทำพิธีศพที่บ้านเกิด แต่อีกนัยหนึ่ง หนังอาจหมายถึงการที่ร่างที่ไร้วิญญาณของแม่ต่างหากที่เป็นผู้พาลูกสาวสองคนที่กระเจิดกระเจิงออกไปจากบ้านได้กลับมายังที่ที่พวกเธอรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นอีกครั้ง ตอนที่รถได้เคลื่อนเข้ามาในหมู่บ้าน ลูกสาวทั้งสองคอยบอกศพของแม่ว่าตอนนี้กำลังผ่านที่ไหนแล้ว ผ่านบ้านของคนสนิทไหนบ้าง ผ่านร้านทำผมของแม่ ผ่านบ้านเพื่อนของแม่ อีกนัยหนึ่งก็เหมือนเป็นการให้ตัวละครได้หวนระลึกถึงความสุข ความหลัง ความทรงจำดีๆ ที่พวกเธอทั้งคู่เคยได้รับสมัยที่ยังเป็นเด็กและวิ่งเล่นกันอย่างมีความสุขในดินแดนบ้านเกิดแห่งนี้ และเมื่อเข้าไปในบ้านที่แม้จะดูรก ไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าไหร่ พวกเธอก็พร้อมที่จะทำความสะอาดมันให้อยู่ได้ ได้นั่งพักคุยกันตามประสาพี่น้องอีกครั้งอย่างสบายใจ ได้ปลอดปล่อย และได้เป็นตัวของตัวเองในแบบเดิมๆ เป็นฉากที่เรียบง่าย เล่าเรื่องแบบนิ่งๆ แต่ทรงพลังมากครับ
คะแนน: 8/10
ข้อมูลเบื้องต้น
ปาดังเบซาร์ I carried you home
กำหนดฉาย: รอบปฐมทัศน์เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ 2012
ผู้กำกับ: ต้องปอง จันทรางกูร
นักแสดง: อภิญญา สกุลเจริญสุข, อคัมย์สิริ สุวรรณศุข และต่อพงษ์ กุลอ่อน
ตัวอย่างหนัง:
http://www.youtube.com/embed/-vZjPuas97I?version=3&rel=1&fs=1&showsearch=0&showinfo=1&iv_load_policy=1&wmode=transparent