10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฮอร์โมนของผู้หญิง ที่ผู้ชายควรรู้
2014-05-14 22:28:09
Advertisement
คลิก!!!

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หากพูดถึงพฤติกรรมและนิสัยของผู้หญิงก็คงจะต้องพูดถึงเรื่อง ฮอร์โมนของผู้หญิง ด้วย เพราะมันเป็นเหตุที่ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมอารมณ์ของพวกเธอถึงเปลี่ยนแปลงกันบ่อยนัก เช่น ตอนนี้คุณอาจเห็นเธอโมโหหัวฟัดหัวเหวี่ยง แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็สามารถนั่งร้องไห้ระหว่างดูหนังที่เธอเคยดูมาแล้วหลายรอบได้ และอีกหลาย ๆ เรื่องที่ทำให้ผู้ชายอย่างเราไม่เข้าใจ ดังนั้นคงจะดีกว่าหากคุณมีโอกาสได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับฮอร์โมนของผู้หญิงเพื่อจะได้เข้าใจเธอมากขึ้น
 

           ผู้หญิงไม่ได้มีแค่ฮอร์โมนเอสโตรเจน

          คุณอาจเคยได้ยินมาว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนพื้นฐานของเพศหญิง และเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการเจริญเติบโตของหน้าอก กับอวัยวะสืบพันธุ์ แถมยังมีผลกับรอบเดือนและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่อย่างไรก็ตามฮอร์โมนตัวนี้ไม่ใช่แค่ฮอร์โมนหลักเพียงตัวเดียวแน่นอน เพราะยังมีฮอร์โมนอีก 2 ชนิดที่สำคัญกับพวกเธอไม่แพ้กันนั่นก็คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเทสโทสเตอโรนนั่นเอง

          ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน นอกจากจะมีผลกับรอบเดือนแล้ว ยังเป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการปรับสมดุลในมดลูกให้พร้อมสำหรับตัวอ่อนเมื่อผู้หญิงเริ่มตั้งครรภ์ โดยการสร้างรกเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของทารก และการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนตัวนี้จะมีผลอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอดกับให้นมลูก นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเหมือนผู้ชาย เพียงแต่มีในจำนวนที่น้อยกว่า ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำมาใช้กับการพัฒนากระดูก กล้ามเนื้อ และเป็นแรงขับทางเพศนั่นเอง


           แม้จะมีฮอร์โมนชนิดเดียวกัน แต่ก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน

          เมื่อคุณเริ่มออกเดทกับผู้หญิงสักคน และมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับเธอมากพอที่จะสามารถพูดคุยถึงเรื่องส่วนตัวกันได้ คุณก็จะมีโอกาสเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีคนใกล้ชิดเป็นผู้หญิงหลายคนก็จะรู้ได้ทันทีว่า ถึงแม้ผู้หญิงแต่ละคนจะมีฮอร์โมนชนิดเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะแสดงพฤติกรรมออกมาเหมือนกันเสมอไป เช่น ผู้หญิงคนแรกอาจอารมณ์แปรปรวนมากในระหว่างมีรอบเดือน ขณะที่อีกคนกลับนิ่งเฉยแต่มีพฤติกรรมการกินที่แปลกออกไปจากเดิมเท่านั้น เป็นต้น

         
           กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนน่ากลัวกว่าที่คิด

          ผู้ชายหลายคนอาจไม่ค่อยใส่ใจเรื่องกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือ Premenstrual Syndrome (PMS) ของผู้หญิงสักเท่าไร รู้แค่ว่าในช่วงนี้อารมณ์ของผู้หญิงจะค่อนข้างแปรปรวนและรุนแรงกว่าปกติเท่านั้นเอง ทั้งที่จริงแล้วในบางคนกลุ่มอาการที่ว่านี้มันส่งผลร้ายมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น อาการนอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดท้อง หรือระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ซึ่งคุณสามารถช่วยได้โดยการให้เธอรับประทานยา หมั่นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับสุขภาพ ชวนไปออกกำลังกาย หรือพาไปพบแพทย์หากเธอเป็นโรคที่เรียกว่า Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) หรือกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน


           รอบเดือนสามารถเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาได้

          แม้ผู้หญิงหลาย ๆ คนจะมีรอบเดือนที่ค่อนข้างชัดเจน สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า รอบเดือนจะเกิดขึ้นช่วงไหนบ้าง และช่วยในเรื่องของการกำหนดการมีเพศสัมพันธ์ แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคนเสมอไป เพราะยังมีบางส่วนที่มีรอบเดือนยาวนานกว่าคนอื่น ๆ นอกจากนี้ช่วงเวลาที่มีรอบเดือนของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็มาแค่ช่วงสั้น ๆ ประมาณ 4-5 วัน ส่วนบางคนมาเต็ม 1 สัปดาห์เลยก็มี อีกทั้งระยะห่างของรอบเดือนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ได้แก่ ความเครียด การออกกำลังกาย หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ด้วยเหตุนี้เองจึงจำเป็นต้องมียาคุมกำเนิดเข้ามาช่วยยับยั้งการสร้างไข่และควบคุมรอบเดือนด้วยฮอร์โมน เพื่อป้องกันการตั้งท้องขณะที่ยังไม่พร้อม อีกทั้งยังทำให้รอบเดือนเป็นปกติด้วย
 

           ผู้หญิงจะอ่อนแอมากเป็นพิเศษในช่วงตั้งครรภ์

          คุณอาจคิดว่า ฮอร์โมนของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงเริ่มเข้าสู่วัยสาวหรือระหว่างมีรอบเดือน แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงเมื่อพวกเธอเริ่มตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วงนี้รกในครรภ์จะผลิตฮอร์โมน เอชจีซี หรือ Human Chorionic Gonadotropin (HcG) ออกมา ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการตรวจการตั้งครรภ์ โดยระดับของฮอร์โมนนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสามเดือนแรก ขณะที่รกกำลังเจริญเติบโต และเป็นที่มาของอาการแพ้ท้องนั่นเอง ที่สำคัญทำให้มีโอกาสเป็นโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขับทารกออกมานั่นเอง

          ในช่วงการตั้งครรภ์ทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนก็มีบทบาทไม่น้อย โดยเอสโตรเจนจะเข้าไปกระตุ้นการเจริญเติบโตหน้าอกของผู้หญิง พัฒนาอวัยวะของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังทำให้ในช่วงนี้ผู้หญิงเป็นหวัดคัดจมูกและมีผิวที่แพ้ต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย ในขณะที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ช่วยควบคุมการทำงานและขยายรังไข่ ก็มีผลทำให้พวกเธอรู้สึกจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด เพราะอาหารไม่ย่อยด้วยเช่นเดียวกัน

          ทั้งนี้ผู้หญิงบางคนก็โชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบจากฮอร์โมนในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ และถึงจะเป็นอย่างนั้นผู้หญิงอีกส่วนก็ต้องมีหนึ่งในอาการที่ว่ามาอยู่ดี เพราะฮอร์โมนเอชจีซีก็ทำให้ร่างกายของผู้หญิงอ่อนแอลง เลยมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น


           ผู้ชายก็มีฮอร์โมนของผู้หญิงด้วยเหมือนกัน

          อย่างที่รู้กันว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับผู้หญิงโดยตรง แต่ทั้งนี้ร่างกายของผู้ชายเองก็มีฮอร์โมนเพศหญิงปะปนอยู่ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่มีปริมาณเล็กน้อย โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนถูกผลิตขึ้นจากเอนไซม์อะโรมาโทส (Aromatose) ที่อยู่ในฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งมีส่วนในการสร้างระบบสืบพันธุ์ และส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ชายด้วย พร้อมกันนี้ฮอร์โมนดังกล่าวยังจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนอายุ ซึ่งสวนทางกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ค่อย ๆ ลดลง

          ถ้าฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้ชายไม่สมดุลก็จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา บางครั้งก็ทำให้อ้วนขึ้น เพราะเอสโตรเจนสามารถสร้างได้ในไขมัน และไขมันนี้ก็เกาะอยู่ทั่วไปในร่างกาย นอกจากนี้โรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน มะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคหัวใจวาย ก็มีผลต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยเช่นกัน ดังนั้นการรักษาระดับฮอร์โมนให้อยู่สมดุลจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งที่จะช่วยจัดสมดุลได้ก็คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน นั่นเอง

 

           การหมดรอบเดือนไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียว

          ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า วัยหมดประจำเดือน เป็นวัยที่ผู้หญิงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หลังจากที่ขาดรอบเดือนไปเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งการหมดรอบเดือนนั้นส่งผลกระทบกับพวกเธอหลายด้านทีเดียว เนื่องจากในช่วงนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนกับโปรเจสเทอโรนเริ่มเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น อาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกมากโดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ซึ่งที่กล่าวมานี้จะเริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ช่วงปลายอายุ 30 จนถึงต้น 40 ปี ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจหากเห็นผู้หญิงในวัยนี้รู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวหรืออ่อนเพลียง่ายบ่อย ซึ่งคุณผู้ชายสามารถดูแลได้โดยการพาเธอไปพบแพทย์ หรือนำสมุนไพรมาช่วยบรรเทาอาการ


           ระดับของฮอร์โมนมีผลต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

          ผู้หญิงเองก็ต้องรักษาสมดุลของฮอร์โมนด้วยเช่นกัน เพราะหากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยหรือมากเกินไป ก็จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องสุขภาพที่ร้ายแรงได้ หากร่างกายมีฮอร์โมนดังกล่าวต่ำเกินไป ก็จะส่งผลให้มวลกระดูกลดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนและแตกหักง่าย และยังเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เมื่อปริมาณคอเรสเตอรอลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน ส่วนผู้หญิงบางคนก็อาจเจอกับภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควรได้เหมือนกัน รวมถึงอาจเป็นมะเร็งเต้านมได้ด้วย
 

           ฮอร์โมนเปลี่ยน ความรู้สึกก็เปลี่ยน

          เนื่องจากฮอร์โมนมีความเกี่ยวข้องกับเพศโดยตรง เมื่อฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกกับอารมณ์ของผู้หญิงก็เปลี่ยนไปด้วย เช่น หากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง แรงขับทางเพศก็น้อยลงเหมือนกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสุขภาพ การใช้ยา หรือนิสัยส่วนตัว เช่น ติดยาเสพติดหรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นต้น


           ฮอร์โมนไม่ได้ควบคุมชีวิตทั้งหมดของผู้หญิง

          หลังจากที่ได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับฮอร์โมนของผู้หญิงไปแล้ว คุณอาจคิดว่าชีวิตพวกเธอถูกควบคุมด้วยฮอร์โมน นับตั้งแต่เห็นว่าฮอร์โมนมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้หญิง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอจะไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองหรือควบคุมอารมณ์ได้เลยซะทีเดียว เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่มีผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึกของพวกเธอ

          เหตุผลที่เรานำเรื่องเกี่ยวกับฮอร์โมนของผู้หญิงมาฝากกันในวันนี้ ก็เพื่อให้ผู้ชายอย่างเรา ๆ เข้าใจผู้หญิงมากขึ้น ทั้งการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ความรู้สึก อารมณ์ และนิสัย เพื่อที่จะได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ช่วยลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตยังไงล่ะครับ

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X