|
สำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐฯ กล่าวว่า ในแต่ละปีมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นนับล้านครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วคนไม่ค่อยรู้สึกเพราะเป็นแผ่นดินไหวที่เบามาก แต่เหตุแผ่นดินไหว 3 ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี กับเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมาในญี่ปุ่น และค่ำวันเสาร์ในเอกวาดอร์ เรียกความสนใจจากทั่วโลกได้ไม่น้อย เพราะเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และนี่คือ 5 ข้อที่น่ารู้เกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวทั้ง 3 ครั้งนี้
1. เหตุแผ่นดินไหวที่เอกวาดอร์ และ ญี่ปุ่น มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ นายพอล คารูโซ่ นักธรณีฟิสิกส์แห่งสำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 ครั้งเพิ่งจะผ่านไปไม่นาน ดังนั้นจึงเร็วไปที่จะบอกว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เพราะยังไม่มีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจัง ซึ่งโดยปกติแล้วพวกเขาไม่เชื่อว่าเหตุแผ่นดินไหวในคนละภูมิภาคจะมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ตอนนี้มีงานค้นคว้าชิ้นหนึ่งที่กำลังศึกษาแนวคิดที่ว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในที่หนึ่ง สามารถกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกที่ที่อยู่ห่างออกไปไกลได้
2. เหตุแผ่นดินไหวในสองประเทศเกิดขึ้นบนแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟ และบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก ซึ่งทอดตัวเป็นรูปโค้งเกือกม้าอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือที่เรียกว่า วงแหวนแห่งไฟ โดยในบริเวณนี้มีภูเขาไฟตั้งอยู่ถึง 452 ลูก คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนภูเขาไฟที่ยักคุกรุ่นอยู่ทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นแนวที่เกิดแผ่นดินไหวคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ ของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอีกด้วย
3. เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ในเอกวาดอร์รุนแรงกว่าแผ่นดินไหวขนาด 7.3 แมกนิจูด ในญี่ปุ่นเมื่อเช้าวันเสาร์ถึง 16 เท่า จากการคำนวณของโปรแกรมในเว็บไซต์ของสำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐฯ
4. นี่คือเหตุแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดของเอกวาดอร์หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะข้อมูลของเว็บไซต์สำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 1906 เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.8 แมกนิจูด บริเวณนอกชายฝั่งเอกวาดอร์และโคลอมเบียมาแล้ว ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนไป 500 ถึง 1,500 ราย ส่วนเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เป็นเหตุแผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนในประเทศไปมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 1987 ที่ตอนนั้นเหตุแผ่นดินไหวได้คร่าชีวิตผู้คนไป 1,000 ราย
5. ข้อมูลที่ทางสำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐฯ เก็บรวบรวมมาตลอดหลายสิบปี ชี้ว่า เหตุแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 7.0-7.9 แมกนิจูด จะเกิดขึ้นประมาณ 15 ครั้ง/ปี ส่วนความรุนแรงขนาด 8.0 ขึ้นไป จะเกิดขึ้นประมาณ 1 ครั้งต่อปี
ที่มา http://www.springnews.co.th/lifestyle/287262