เพราะเหตุใด เยอรมนียังไม่เป็น "หนึ่งเดียว" แม้กำแพงเบอร์ลินจะพังทลายลงไปกว่า25ปีแล้ว
2014-11-09 13:16:43
Advertisement
คลิก!!!

เรียบเรียงจากบทความของ Rick Noack ในเดอะ วอชิงตัน โพสต์
 
 
มันเป็นเรื่องยากสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะนึกภาพว่ากำแพงเบอร์ลินที่แบ่งแยกฝ่ายคอมมิวนิสต์ทางตะวันออกและฝ่ายพันธมิตรของสหรัฐฯในฝั่งตะวันตกอยู่บริเวณใด,วันนี้ผู้โดยสารพากันวิ่งไปขึ้นรถไฟใต้ดินซึ่งมีมากว่า 30 ปี ร้านไส้กรอกเครื่องเทศ และงานปาร์ตี้ (ซึ่งผิดกฏหมายแต่เป็นที่นิยม) ในโกดังว่างเปล่า ซึ่งสถานที่เหล่านี้อยู่ห่างไปไม่กี่ฟุตจากจุดที่ชาวเยอรมันตะวันออกถูกสังหารโดยเพื่อนร่วมชาติเนื่องจากพวกเขาพยายามข้ามไปยังฝั่งตะวันตก
 
อาทิตย์ที่จะถึงนี้เยอรมนีจะฉลองครบรอบ25ปีการทลายกำแพงเมืองเบอร์ลินซึ่งดูเผินๆ แล้วเยอรมนีเป็นประเทศที่มีความเป็นหนึ่งเดียวมากกว่าประเทศที่เคยถูกแบ่งแยกอื่นๆ
 
แต่ตัวเลขและภาพจริงสะท้อนความแตกต่างในวิถีชีวิตและปัญหาระหว่างประชาชนทั้งสองฝั่งแม้75เปอร์เซนต์ของประชาชนฝั่งตะวันออกมองว่าการรวมชาติของพวกเขาถือเป็นความสำเร็จแต่สำหรับผลสำรวจในฝั่งตะวันตก มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เห็นด้วยกับความสำเร็จดังกล่าว และนี่ก็มิได้เป็นตัวอย่างเดียวที่แสดงให้เห็นถึงความแบ่งแยกจากอดีตถึงปัจจุบัน
 
ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดอธิบายภาพกราฟิคและแผนที่จากวอชิงตันโพสต์ที่บางส่วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากข้อมูลของเว็บไซต์ข่าวของเยอรมันZeitonline,เราลองมาดูที่ “ภาพใหญ่” ของความแตกต่างดังกล่าวกันก่อน

ภาพด้านบนถ่ายโดยนักบินอวกาศอังเดร กุยเปอร์สจากสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2012 มันแสดงให้เห็นถึงการแบ่งส่วนของเบอร์ลิน ขณะที่กลุ่มไฟสีเหลืองอยู่ในฝั่งตะวันออก อีกด้านที่เป็นสีเขียวแสดงถึงส่วนที่เป็นฝั่งตะวันตก
 
ดาเนียล่า ออเกนสตีน โฆษกของแผนกการพัฒนาเมืองเบอร์ลิน ได้อธิบายว่านับแต่อดีตทั้งสองฝั่งใช้ไฟถนนต่างประเภทกัน ตัวหลอดไฟเองยังบอกถึงสิ่งที่แตกต่างอีกประการคือ ไฟถนนที่ใช้ในฝั่งตะวันตกนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเนื่องมาจากการตื่นตัวในการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในช่วงทศวรรษที่1970ถึงทศวรรษที่1980ซึ่งในยุคนั้นฝั่งตะวันออกยังเต็มไปด้วยมลภาวะจากการใช้พลังงานถ่านหินปริมาณมาก ในวันนี้เยอรมันตะวันออกเป็นศูนย์กลางของการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศ แต่ความแตกต่างจากอดีตก็ยังแสดงให้เห็นผ่านแสงไฟยามค่ำคืนของทั้งสองฝั่ง
 
จากการเก็บศึกษาข้อมูลด้านอื่นๆยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างนอกเหนือไปจากนั้นระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของประเทศเยอรมนี
 

**ภาพด้านบนแสดงความแตกต่างด้านรายได้หลังการหักภาษีของประชาชนทั้งสองฝั่งโดยความเข้มของสีแสดงถึงความมากน้อยของรายได้**

 
หลังการทลายของกำแพงเบอร์ลินบริษัทและโรงงานของอดีตคอมมิวนิสต์ในฝั่งตะวันออกจะต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าจากฝั่งตะวันตกการที่ต้องเผชิญหน้ากับระบอบทุนนิยมโดยฉับพลันทำให้หลายบริษัทในฝั่งตะวันออกต้องอยู่ในสภาวะล้มละลายและในบางภูมิภาคก็ยังมิอาจฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นจนถึงวันนี้ระดับรายได้ในฝั่งตะวันออกยังต่ำกว่าตะวันตกอยู่มาก
 
 
**ภาพด้านบนแสดงอัตราการว่างการสีเข้มมากแสดงถึงอัตราการว่างงานที่สูงมาก**

 
ระดับการว่างงานของเยอรมนีตกเป็นข่าวพาดหัวเมื่อตัวเลขที่ออกในฤดูร้อนที่ผ่านมาทำสถิติต่ำที่สุดในรอบยี่สิบปีแต่ตัวเลขดังกล่าวก็มิได้เป็นได้โดยเท่าเทียมกันทั้งประเทศอดีตประเทศเยอรมันตะวันตกยังมีอัตราการจ้างงานที่สูงกว่าฝั่งตะวันออกและการที่คนหนุ่มสาวจากชนบทในฝั่งตะวันออกได้พากันย้ายมาหางานในฝั่งตะวันตก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราคนว่างงานในฝั่งตะวันออกต่ำลง
 
 
**ภาพด้านบนแสดงสัดส่วนประชากรในวัยหนุ่มสาวต่อประชากรทั้งหมดสีเข้มกว่าแสดงว่ามีคนหนุ่มสาวมากว่า**

 
จากภาพสะท้อนให้เห็นสภาวะแห่งความย้อนแย้งกล่าวคือ คนหนุ่มสาวจำนวนมากจากชนบทในฝั่งตะวันออกบอกว่าเขาถูกบังคับโดยสภาพให้ต้องย้ายถิ่นฐานสู่ฝั่งตะวันตกหรือเมืองใหญ่ในฝั่งตะวันออกเองเนื่องจากมีงานและค่าตอบแทนที่ดีกว่าส่งผลให้บริษัทหลายแห่งในตะวันออกไม่สามารถหาเด็กรุ่นใหม่เพื่อเข้าฝึกงานในงานระดับเบื้องต้นและต้องหาแรงงานมาจากโปแลนด์หรือสาธารณะรัฐเชคแทน
 
 
**ภาพด้านบนแสดงอัตราส่วนชาวต่างชาติต่อจำนวนประชากรทั้งหมดระดับความเข้มสีแสดงถึงจำนวนมากน้อยของชาวต่างชาติในพื้นที่นั้นๆ**

 
ความแตกต่างของตัวเลขทางประชากรศาสตร์ไม่ได้เป็นเพราะความแตกต่างทางรายได้และอัตราการว่างงานเท่านั้นการที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เลือกที่จะตั้งรกรากในฝั่งตะวันตกยังทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรในฝั่งนี้ลดลงอีกด้วยมีปัจจัยหลายอย่างที่จะใช้อธิบายสาเหตุที่ทำให้มีชาวต่างชาติน้อยในฝั่งตะวันออกหนึ่งในนั้นคือก่อนหน้าที่จะมีการรวมชาติเยอรมันตะวันตกได้เชิญชวนชาวตุรกีมาทำงานในประเทศ ซึ่งหลายคนเมื่อมาถึงแล้วก็มิได้เดินทางกลับไปอีกเลย
 
 
**ภาพด้านบนแสดงความนิยมต่อพรรคการเมืองขวาจัดสีเข้มแสดงถึงการได้รับความนิยมสูง**

 
นอกจากนี้บรรยากาศในฝั่งตะวันออกยังไม่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติอีกด้วยจากรายงานการศึกษาของมหาวิทยาลัยไลป์ซิกซึ่งเก็บข้อมูลของชาวเยอรมันกว่า16,000คนเป็นเวลา 10 ปี พบว่ามีการขยายตัวของกลุ่มขวาจัดนาซีใหม่มากขึ้น โดยที่พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา อันมีสมาชิกบางส่วนถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกบูชาฮิตเลอร์ก็มีฐานสนับสนุนอยู่ในฝั่งตะวันออก แม้ว่าพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมากนักก็ตาม
 
อะไรเป็นสาเหตุให้นักการเมืองขวาจัดได้รับการสนับสนุนจากอดีตคอมมิวนิสต์คำอธิบายดูจะยุ่งยากแต่นักวิชาการมักให้เหตุผลว่าส่วนหนึ่งมาจากการต่อต้านกลุ่มฝ่ายซ้ายหลังการล่มสลายทางเศรษฐกิจในฝั่งตะวันออกหลายคนโทษว่าเป็นพิษมาจากทุนนิยมตะวันตกแต่น้อยคนที่ต้องการกลับไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สร้างพื้นที่ทางการเมืองให้กับพวกฝ่ายขวาและประชาชนจำนวนมากก็ตอบรับพวกเขาเป็นอย่างดี
 
 
**ภาพแสดงปริมาณขยะที่ผลิตโดยประชากรหนึ่งคนมากน้อยตามความเข้มสี**

 
ตัวเลขการเปรียบเทียบก่อนหน้าอาจทำให้เยอรมันตะวันออกดูเป็นที่ที่ไม่น่าอยู่ แต่ในอีกด้านหนึ่งตะวันออกมีตัวเลขที่ดีกว่าในส่วนของปริมาณขยะที่สร้างโดยประชากรหนึ่งคนเหตุผลประการหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาการขาดแคลนด้านอาหารในปี1989ซึ่งสอนให้เยอรมันตะวันออกรู้จักประหยัดและใช้จ่ายไปเฉพาะกับสิ่งที่จำเป็น ซึ่งดูเหมือนทัศนคติเช่นนี้จะยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดีหากเปรีบบเทียบเฉพาะตัวเลขขยะจากครัวเรือนอย่างเดียวไม่รวมแหล่งผลิตขยะอื่นๆ เช่นสวนแล้ว ปริมาณที่แตกต่างกันนั้นก็ดูจะลดลงไม่น้อยทีเดียว
 
 
**ภาพด้านบนแสดงพื้นที่ที่ให้บริการเลี้ยงดูเด็กอ่อนมากน้อยตามความเข้มของสี**

 
คอมมิวนิสต์ในตะวันออกนั้นเน้นการสร้างศูนย์รับเลี้ยงเด็กเนื่องจากแม่ของเด็กในฝั่งตะวันออกนั้นมักจะต้องทำงานแม้จะมีลูกแล้วรัฐบาลจึงสนับสนุนการสร้างศูนย์ดูแลเหล่านี้เป็นงบประมาณจำนวนมหาศาลซึ่งเป็นมรดกสืบทอดถึงปัจจุบันในขณะที่แม่ในฝั่งตะวันตกมักจะอยู่บ้านดูแลลูกด้วยตัวเอง 
 
 
**ภาพด้านบนแสดงการเปรียบเทียบขนาดของพิ้นที่เพาะปลูกสีเข้มมากแสดงถึงขนาดของพื้นที่ที่ใหญ่มาก**

 
จากแผ่นที่แสดงให้เห็นถึงมรดกอีกประการของคอมมิวนิสต์ตะวันออกในอดีตพื้นที่ทางการเกษตรของเยอรมันตะวันออกไม่สามารถตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนได้แต่พื้นที่ทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์รวมของเกษตรกรทำให้พื้นที่ทางการเกษตรเหล่านี้มีขนาดใหญ่มากซึ่งหลังจากการรวมประเทศขนาดของพื้นที่ทางการเกษตรเหล่านี้ก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
 
 
**ภาพด้านบนแสดงสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดมากน้อยตามระดับความเข้มสี**

 
สำหรับคอมมิวนิสต์ตะวันออกถือเป็นเรื่องปกติและฝ่ายการเมืองก็ให้การสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดจนกระทั่งปัจจุบันฝั่งตะวันออกยังให้การสนับสนุนกับการฉีดวัคซีนมากกว่า 
 
 
**ภาพด้านบนแสดงจำนวนรถบ้าน มากน้อยตามระดับความเข้มสี**

 
สุดท้ายถ้าคุณไปเที่ยวยุโรปและเห็นชาวเยอรมันทั้งสองกลุ่มในที่ตั้งแคมป์คุณจะสามารถแยกออกอย่างง่ายดายว่าใครมาจากฝั่งไหนทั้งนี้ชาวเยอรมันตะวันออกมักเลือกที่จะนอนในเต็นท์ในขณะที่กลุ่มเยอรมันตะวันตกจะเลือกเดินทางไปพร้อมกับรถบ้านเราไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในประเด็นนี้ แต่คิดว่าสาเหตุหนึ่งคือผู้คนในฝั่งตะวันตกมีประสบการณ์ในการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกมานานก่อนหน้าชาวเยอรมันตะวันออกนอกจากนี้คนหนุ่มสาวจากฝั่งตะวันออกยังขาดกำลังซื้อมากพอที่จะเป็นเจ้าของรถสักคันภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์การที่จะซื้อรถบ้านจึงเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับพวกเขาอีกทั้งประชาชนของตะวันตกสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้โดยเสรีแต่รัฐบาลตะวันออกเลือกที่จะใช้นโยบายที่แทบจะเป็นการขังประชาชนไว้ในประเทศนานถึงกว่า 30 ปี ก่อนที่จะจบลงพร้อมกับการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อ 25 ปีก่อน


ที่มา  มติชนออนไลน์
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X