|
ปากเหม็นทำไงดี (e-magazine)
หลายคนกลัวเรื่องกลิ่นปาก กลัวเพื่อนไม่อยากคุยด้วย กลัวเจ้านายเมินหน้าหนี ฯลฯ ซึ่งเรื่องเล็ก ๆ อย่างกลิ่นปากนี่แหละที่เป็นปัญหาใหญ่ในการพูดคุยกับคนรอบข้าง และพบปะพูดคุยกับผู้คนมากมายในสังคม
จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีกลิ่นปากหรือไม่?
วิธีง่ายที่สุดคือการถามคนใกล้ชิด แต่ถ้าไม่กล้า ก็สามารถทดสอบได้ด้วยตัวเอง เอามือป้องปากไว้ทั้ง 2 มือ อ้าปาก แล้วหายใจออกแรง ๆ ใส่มือตัวเอง แล้วสูดหายใจลึก ๆ ทันที
กลิ่นปากเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สาเหตุของกลิ่นปากมีอยู่ 2 ปัจจัย คือ
1.ปัจจัยภายในช่องปาก ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
ฟันผุ เกิดจากการที่เชื้อโรคสเตรปโตคอคไค (Streptococcus) ที่อาศัยอยู่บนแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่ติดบนตัวฟันย่อยสลายอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล ส่งผลให้เกิดกรดแลคติก และอื่น ๆ ที่ทำลายเนื้อฟัน และผิวฟัน ทำให้เกิดเป็นหลุม และร่องลึก ถ้าฟันผุมาก ๆ ถึงขั้นทะลุโพรงประสาทฟัน ซึ่งทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อโพรงประสาทด้านใน จะส่งผลให้มีกลิ่นปาก ทั้งจากเนื้อฟันที่ตาย และอาหารที่บูดหมักสะสมอยู่เป็นเวลานานในโพรงที่ฟันผุ
เหงือกอักเสบ สาเหตุใหญ่มาจากคราบจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่ตามร่องเหงือก พอสะสมนาน ๆ น้ำลายซึ่งมีแร่ธาตุต่าง ๆ จะตกตะกอนทับลงไปบนบริเวณที่มีคราบจุลินทรีย์อยู่เดิม และจะเปลี่ยนเป็นหินปูน ยิ่งทิ้งไว้นานเหงือกจะอักเสบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเหงือกจะมีเม็ดเลือดขาว หรือเซลล์ที่ต่อต้านการอักเสบออกจากบริเวณร่องเหงือก ทำการต่อต้านคราบจุลินทรีย์ ยิ่งทิ้งไว้นาน อาการอักเสบก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำลายถึงกระดูกรองรับฟัน ซึ่งจะสังเกตได้จากเหงือกร่น และจะเห็นฟันซี่ยาวขึ้น มีอาการปวดตื้อ ๆ ที่เหงือก เคี้ยวอาหารแล้วจะรู้สึกปวดและฟันโยก
แปรงฟันไม่สะอาด ทำให้เกิดการตกค้างของเศษอาหาร เมื่อมีการบูดเน่าทำให้เกิดกลื่นขึ้นมาได้
การสูบบุหรี่ ทำให้มีคราบนิโคตินจับเกาะอยู่บนคราบหินปูนบนเคลือบฟัน
มีเศษอาหารตกค้าง และเกิดการบูดเน่าในบริเวณที่มีฟันผุเป็นรูกว้าง
การใส่ฟันปลอมที่หลวมไม่พอดีกับเหงือก หรือนอนโดยที่ไม่ถอดฟันปลอมออกมาแช่ อาจทำให้เกิดกลิ่นจากเศษอาหารเล็ก ๆ และจากการที่เชื้อจุลินทรีย์สะสมอยู่บริเวณผิวฟันปลอม
เกิดจากอาหารทานอาหารที่มีกลิ่น เช่น กระเทียม กะปิ สะตอ ฯลฯ
มีแผลในช่องปาก ทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้สะอาด
ฟันซ้อน เก หรือฟันคุด ทำให้ทำความสะอาดฟันได้อย่างไม่ทั่วถึง
การจัดฟัน ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้อย่างสะอาดทั่วถึง
การครอบฟันที่ไม่พอดี อาจทำให้เกิดการตกค้างของเศษอาหาร
ผู้ที่เพิ่งถอนฟัน ทำให้ทำความสะอาดฟันได้อย่างไม่ทั่วถึงและแบคทีเรียที่อยู่ในปากมาย่อยสลายลิ่มเลือดทำให้เกิดกลิ่นได้
2. สาเหตุภายนอกช่องปาก เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุเช่นกัน เช่น
โรคไซนัสอักเสบ
โรคในระบบทางเดินอาหาร
หวัด
ท้องผูก
โรคกระเพาะอาหาร
ฯลฯ
ถ้ามีปัญหาเรื่องช่องปากควรจะทำอย่างไรดี?
ที่พูดถึงกันบ่อย ๆ ในตอนนี้คือเรื่องกลิ่นปากในตอนเช้า คนส่วนใหญ่ตื่นมาตอนเช้ามักจะมีกลิ่นปากเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากขณะที่เรานอนหลับ เราไม่รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ ไม่ได้พูด กลิ่นปากที่มาก หรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำลาย ถ้าคนที่มีน้ำลายมาก ใส จะมีกลิ่นปากน้อย แต่ถ้าน้ำลายน้อย ข้น และเหนียว จะมีกลิ่นปากมากกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรใช้ยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจจะไปทำลายเชื้อโรคตัวอื่น ๆ ที่ดีในช่องปาก และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
ถ้าพบว่าเรามีกลิ่นปาก ควรแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน เช่น
1. แปรงฟันให้สะอาดอย่างถูกวิธี ถ้ารู้สึกว่ามีปัญหาควรแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ
การแปรงฟันเป็นการทำความสะอาดฟันที่ดีที่สุด หลายคนเข้าใจผิดว่า ควรแปรงแรง ๆ เพื่อลดกลิ่นปาก ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องเพราะทำให้ฟันสึกได้
2. ใช้ไหมขัดฟัน
ควรใช้ไหมขัดฟันเป็นอย่างยิ่ง เพราะการแปรงฟันปกติไม่สามารถทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดอยู่ระหว่างซอกฟันได้ หลายคนบ่นว่าใช้ไหมขัดฟันแล้วมีเลือดออก เป็นเพราะใช้ไหมขัดฟันผิดท่า ทำให้บาดเหงือก หรือถ้าใช้อย่างปกติแล้วมีเลือกออกแสดงว่าเป็นโรคเหงือกอักเสบ ควรพบทันตแพทย์
3. การแปรงลิ้น
ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นปากได้ เนื่องจากด้านบนของลิ้นผิวไม่เรียบ ซึ่งบริเวณนี้จะเกิดการสะสมของกลิ่นได้ง่าย การแปรงสามารถใช้แปรงสีฟันกวาดเบา ๆ จากด้านในออกมาด้านนอก 2 – 3 ครั้ง จะช่วยลดจำนวนคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้
4. ถ้ารู้สึกปากแห้ง น้ำลายน้อย เหนียว ข้น ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ
หลายคนเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปาก ทานเม็ดอม หรือหมากฝรั่งดับกลิ่นปาก ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นประจำเนื่องจากทำให้สมดุลของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราในช่องปากเสียไป และไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์
นอกจากนี้ ควรจะไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เนื่องจากแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพในช่องปาก และแก้ปัญหาให้ก่อนที่จะลุกลามไป เช่น กำจัดคราบหินปูนก่อนที่จะเกิดฟันผุ รักษาฟันที่ผุก่อนจะเกิดการลุกลามมากยิ่งขึ้น โดยทันตแพทย์จะขัดทำความสะอาดฟัน เพื่อตรวจดูแนวเหงือก และคอฟัน ถ้าพบว่ามีปัญหาเรื่องฟันผุมาก แพทย์อาจทำการเอ็กซเรย์เพื่อตรวจดูในระดับรากฟัน
ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม