ภาพลักษณ์ของเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี: ไร้เดียงสา VS เกิร์ลครัช กับปัญหาที่ยังรอการแก้ไข
2021-02-22 09:10:45
Advertisement
Pyramid Game

เกิร์ลกรุ๊ปเคป็อปมีภาพลักษณ์ต่อหน้ากล้องอย่างไรบ้าง? สิ่งใดที่เป็นแบบฉบับของเกิร์ลกรุ๊ปเคป็อป? ทำไมเราถึงไม่ค่อยมีโอกาสเห็นไอดอลหญิงแต่งเพลง? ‘เทพธิดา’ เป็นคำชมสำหรับไอดอลหญิงจริงหรือไม่?

นี่คือคำถามบางคำถาม ที่ถูกเขียนเอาไว้ในหนังสือชื่อว่า ‘ถูกเรียกว่าเทพธิดา คือคำชมจริงหรือ?’ เขียนโดย ชเวจีซอน นักวิชาการชาวเกาหลี ที่วิเคราะห์วงการเคป็อป โดยเฉพาะวงเกิร์ลกรุ๊ป ที่ผลิตออกมาในวงการ ชี้ให้เห็นมุมมองการขับเคลื่อนทางเพศสภาพในวงการเพลงเกาหลี

จากประสบการณ์กว่า 20 ปีในการวิเคราะห์เพลงที่ได้รับความนิยม ชเวจีซอน ได้เปิดประเด็นคำถามมากมายเกี่ยวกับธีม, เสื้อผ้า และอื่นๆของไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป ที่เชื่อมโยงเข้ากับไอเดียของการบ่งบอกเพศหญิง

 

“การศึกษาและการเขียนเกี่ยวกับทฤษฎี และประวัติศาสตร์ของวงการเพลงป็อป ทำให้ฉันให้ความสนใจกับธุรกิจไอดอลไปโดยปริยาย ในฐานะที่เป็นผู้หญิงเหมือนกัน ฉันเลยให้ความสนใจกับการแสดงและเพลงของศิลปินหญิงที่ทำออกมาสู่สายตาสาธารณะชน” เธอเขียนอธิบายที่มาที่ไปในหนังสือของตัวเอง

ทั้งไอดอลชายและหญิงมีสิ่งที่เหมือนกันคือ พวกเขาเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย, ฝึกเป็นเวลาหลายปี ทั้งการเต้น การร้อง และการแสดง หลายคนทำตามกฎที่เข้มงวด หรือบางคนจบลงด้วยหนี้สิน กลายเป็นสินค้าของบริษัทต้นสังกัดของตัวเอง พวกเขาไม่ได้ทำงานแค่ในวงการเพลง แต่มักจะทำงานในวงการแฟชั่น, ซีรีส์, โฆษณา รวมถึงเกม และเว็บตูนด้วย

สื่อบันเทิงและแฟนคลับ ต่างจัดวางไอดอลไว้เป็นเสมือนสิ่งในอุดมคติ ดีงามกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป ไอดอลมักถูกมองว่าเป็นคนที่มีคุณธรรมยอดเยี่ยม จนมองข้ามความธรรมดาของมนุษย์ไป


ชเวจีซอนได้อธิบายความแตกต่างของไอดอลชายและไอดอลหญิง ในแง่ของภาพลักษณ์ที่คาดว่าจะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้ในวงการเพลงที่มีการแข่งขันกันสูงเช่นนี้


สิ่งที่เห็นได้โดยทั่วไปเลยคือการสร้างจุดขายจากรูปร่าง สัดส่วนของไอดอลหญิง

ในวิดีโอของวงเกิร์ลกรุ๊ป ส่วนของร่างกายของพวกเธอ ทั้งขา, หน้าอก ไปจนถึงริมฝีปาก สะโพก จะถูกถ่ายเน้นส่วนออกมา รวมถึงภาพลักษณ์ที่ใช้ในผลงานของเกิร์ลกรุ๊ป ที่มักจะเป็นนักเรียนหญิง, เทพธิดา หรือ เอลฟ์ ทั้ง 3 สิ่งนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่หมายถึงความเป็นผู้หญิง ความบริสุทธิ์ ความใสซื่อ และไร้พิษภัย ในวัฒนธรรมเกาหลี

เกิร์ลกรุ๊ปโปรโมทในชุดนักเรียน เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่ไร้เดียงสา ในขณะที่บอยแบนด์อย่าง EXO หรือ BTS โปรโมทในชุดนักเรียน เพื่อแสดงความเป็นวัยรุ่นที่มีกำลัง 

“เสื้อผ้าชุดนักเรียนของบอยแบนด์ เป็นเครื่องมือในการวิจารณ์สังคม ในขณะที่ชุดนักเรียนของเกิร์ลกรุ๊ปมักจะสื่อถึงการรำลึกความหลัง รักครั้งแรก ความไร้เดียงสา” 

การมองภาพลักษณ์ของสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปเป็นเทพธิดา หรือเอลฟ์ สิ่งมีชีวิตในตำนานที่มีความงาม เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำกัดกรอบมุมมองต่อไอดอลหญิง

“เมื่อสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ป กลายเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่คน อย่างเทพธิดา ที่มีทั้งความใสซื่อ ไร้การหมกหมุ่นทางเพศเหมือนคนทั่วไป พวกเธอต้องพยายามอย่างมากเพื่อรักษาภาพลักษณ์นั้น ทั้งที่พวกเธอต้องโตขึ้นทุกวัน การคงภาพลักษณ์แบบนั้นเป็นไปไม่ได้ และเมื่อถึงวันหนึ่ง พวกเธอจะถูกทอดทิ้งในตอนจบ”

แน่นอนว่ามีอีกหลายวงที่พยายามออกนอกกรอบเหล่านี้ โดยการโปรโมทในคอนเซ็ปต์ที่เรียกกันว่า ‘เกิร์ลครัช’ ซึ่งภาพลักษณ์นี้หวังจะครองใจแฟนคลับหญิงมากกว่าแฟนคลับชาย

อย่างไรก็ตาม ชเวจีซอนบอกว่าคอนเซ็ปต์เกิร์ลครัชเองก็มีข้อจำกัดของมัน เมื่อนำเสนอภาพลักษณ์ที่ตรงข้ามกับความไร้เดียงสา, ความน่ารัก กลับถูกโยงเข้ากับการเรียกร้องเฟมินิสต์ แทนที่จะมองว่าเป็นความเท่าเทียมกันทางเพศ

ชเวจีซอน ได้ยกตัวอย่างวิดีโอเพลง Butterfly ของ วง LOONA ที่เป็นตัวอย่างความพยายามในการสร้างความแตกต่างให้กับนิยมของความเป็นผู้หญิงที่ถูกจำกัดเอาไว้

สมาชิกแต่ละคนใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อนำเสนอทักษะการเต้น การร้องของพวกเธอ มากกว่าที่จะให้ผู้ชมสนใจรูปร่าง ในมิวสิควิดีโอมีผู้หญิงจากหลากหลายประเทศ ทั้งเกาหลี, ฮ่องกง, ฝรั่งเศส และไอซ์แลนด์ ที่ต่างวิ่งไปบนถนน เต้น และปีนป่าย เพื่อแสดงออกถึงความเป็นอิสระและตัวตนของพวกเธอ 

ตัดมาเรื่องการมีโอกาสมีส่วนร่วมในการแต่งเพลงของไอดอลหญิงเคป็อปที่มีน้อยมาก เรามักจะได้เห็นนักแต่งเพลง, โปรดิวเซอร์, วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญในวงการเป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ ปัญหาที่ชเวจีซอนพูดถึงคือ อายุ ของพวกเธอ “ผู้หญิงที่อายุมากขึ้นจะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกของสาวแรกรุ่นได้อีก”

ไอดอลหญิงยังไม่ค่อยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหัวข้อที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางเพศ ซึ่งอาจทำให้แฟนคลับชายรู้สึกไม่พอใจได้

ด้วยสิ่งแวดล้อมทั้งหมดนี้ ชเวจีซอนเรียกร้องให้ทุกต้นสังกัดบันเทิง ตัวไอดอลเอง โปรดิวเซอร์ สื่อ นักวิจารณ์และผู้บริโภค ร่วมทำงานด้วยกัน เพื่อสร้างสิ่งที่มีความหมาย และความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น 


เธอไม่ได้ระบุว่าภาพลักษณ์ใดของไอดอลหญิงที่ดีที่สุด หรือถูกต้อง เอาไว้ในหนังสือของเธอ เธออยากให้ทุกคนมีส่วนแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์มากกว่า

“ฉันหวังว่าคนจะพูดคุยถึงปัญหาและข้อจำกัดของเกิร์ลกรุ๊ป เราต้องตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น เพื่อนำมาซึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม”

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X