นักวิจัยเผย 4 มิติต้นแบบดูแลผู้สูงอายุ
2014-10-04 19:32:30
Advertisement
คลิก!!!

       พลเมืองไทย สูงวัยอย่างสมาร์ท ย้ำครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเกื้อกูลให้ผู้สูงอายุมีความสุข  พร้อมแนะผู้สูงอายุให้ทำงานเพื่อตนเอง สังคมและคนอื่น ให้เป็นพลังเยียวยาจิตใจ ในขณะที่สถิติตัวเลขผู้สูงอายุพึ่งพิงในไทยมากถึง 1.74 ล้านคน เสนอแนวทาง 4 มิติเพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุ
       
       สถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ภายใต้การสนับสนุนหลักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ“พลเมืองไทย สูงวัยอย่างสมาร์ท” นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การทำงานสามประสานร่วมสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ว่า การทำงานสามประสานเพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนั้น ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายส่วน โดยส่วนที่หนึ่งคือผู้สูงอายุจะต้องมีสุขภาพที่ดี ซึ่งสุขภาพที่ดีนั้นจะประกอบไปด้วย สุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพปัญญา  เพราะหากสุขภาพทั้งหมดที่กล่าวมาดีก็จะทำให้เกิดการสร้างความสมดุลของการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุได้  ส่วนที่สองผู้สูงอายุจะต้องทำงาน คือทำงานเพื่อตนเองให้มีรายได้พอสมควร  ทำงานเพื่อคนอื่น และทำงานเพื่อสังคมตามอัตภาพที่พอดีและเหมาะสม การทำงานเพื่อคนอื่นจะทำให้เรามีเกียรติยศ และทำให้เรามีความสุขใจ 
       
       นอกจากนี้แล้วในส่วนที่สามที่เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดียิ่งขึ้นคือ ผู้สูงอายุจะต้องมีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ มีเงินทองที่พอดีพอควรสำหรับการใช้ชีวิตได้ มีความมั่นคงในครอบครัวที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลผู้สูงอายุทำให้ผู้สูงอายมีความภูมิใจในการใช้ชีวิตได้ซึ่งสถาบันครอบครัวของเรานั้นเป็นครอบครัวที่ใช้ชีวิตแบบร่วมกันดูแลกันไม่เหมือนกับครอบครัวของฝรั่งที่ใช้ชีวิตแบบครอบครัวนกที่โตแล้วก็แยกรังออกไป และสิ่งที่สำคัญอีกปัจจัยที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นอีกประการก็คือการปรับสภาพแวดล้อมที่ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้นั่นเอง
       
       ด้าน พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รองเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวถึงการทำงานในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุว่า เป้าหมายในการทำงานของเรา คือต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่ในสังคม สามารถพึ่งพิงตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการพัฒนาจะใช้แนวทาง 4 มิติ เพื่อเป็นทิศทางในการดูแล โดยเริ่มจากพื้นที่ต้นแบบและขยายเครือข่ายต่อไป โดยมิติที่ 1 คือ การดูแลระยะยาวต่อผู้สูงอายุกลุ่มพึ่งพิง ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้นด้วย โดยปี 2522 มีผู้สูงอายุที่พึ่งพิงกว่า 1.74 ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ 22 ของประชากรผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงต้องเร่งหาแนวทางแก้ปัญหา และชะลอภาวการณ์พึ่งพึงให้ได้ ซึ่งกระบวนการสำคัญคือต้องส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการจัดการ อาทิ การจัดกิจกรรมเยี่ยมไข้ผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นโครงการที่ทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ส่วนมิติที่ 2 คือการสร้างอาชีพและรายได้รวมทั้งกิจกรรมของผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุมีรายได้จากเบี้ยยังชีพของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งบางครั้งอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นจึงต้องหาทางออกให้ผู้สูงอายุมีงานทำ เพื่อสร้างรายได้ และที่สำคัญเป็นการสร้างคุณค่าทางด้านจิตในให้กับผู้สูงวัยด้วย
       
       ส่วนมิติที่ 3 คือการปรับสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรกับผู้สูงวัย คืออยู่แล้วปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตราย หรือลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ และมิติที่ 4 คือการเตรียมพร้อมสู่วัยสูงอายุ คือต้องส่งเสริมให้มีการเตรียมการ วางแผน และออกแบบไว้ตั้งแต่เริ่มต้น  อย่างไรก็ตามทั้ง 4 มิติของการพัฒนานั้นก็จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน  แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือผู้สูงอายุเองจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมลงแรง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำไปสู่เป้าหมายคือผู้สูงอายุสามารถจัดการตนเองและพึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X