เมื่อวันที่ 23 ม.ค. เอเอฟพีรายงานว่า นายเอริก ชมิดต์ ซีอีโอบริษัทกูเกิ้ล ยักษ์ใหญ่ในวงการอินเตอร์เน็ต กล่าวในเวทีการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ประจำปี 2558 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า อินเตอร์เน็ตในรูปแบบปัจจุบันจะหายไป เมื่อมันแทรกซึมไปเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์และบริการรายวัน จะมีไอพีแอดเดรสมากมาย อุปกรณ์มากมาย ตัวตรวจจับวัดอะไรมากมาย และทุกอย่างที่ติดต่อสื่อสารเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต จนเราไม่รู้ตัว

คลิก!!!

"เพราะอุปกรณ์ไฮเทคจะมีเยอะขึ้น จนบางทีอาจจะเล็กถึงขั้นสัมผัสไม่ได้ แต่มันจะอยู่รอบๆ ตัวคุณ มันจะกลายมาเป็นเหมือนชีวิตทั้งชีวิตคุณลองนึกภาพสิว่าคุณเดินเข้าไปในห้อง แล้วสิ่งของทุกอย่างมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับคุณ เครื่องจักรกำลังจะมีความเป็นตัวของตัวเอง มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากขึ้น" ชมิดต์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการประชุมว่า เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น ตำแหน่งหน้าที่การงานก็จะสั่นคลอน เพราะอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์อีกต่อไป ทำให้หลายคนเริ่มใจคอไม่ค่อยดี

แต่ผู้บริหารงานด้านเทคโนโลยีอื่นๆอย่างเฟซบุ๊กไมโครซอฟท์ ฯลฯ พยายามชี้แจงเพื่อลดความกังวลเหล่านั้นลง

"จริงอยู่ที่ทุกคนกลัวว่าจะตกงานเทคโนโลยีต่างๆพัฒนาไปเร็วกว่าที่เคยมาก ซึ่งถ้ามองอีกมุมนึง มันนี่แหละ ที่จะเป็นตัวสร้างงานให้เรา"เชอรีล แซนด์เบิร์ก หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ บอสสาวของบริษัทเฟซบุ๊ก กล่าว

แต่ชมิดต์มองต่างมุมว่า ให้ลองนึกภาพชาวนาที่ต้องตกงาน เพราะรถแทร็กเตอร์ผลิตขึ้นมาใช้ไถนาแทนแรงคน

"จริงๆ ประเด็นเรื่องเทคโนโลยีเป็นตัวสร้างหรือทำลายงานนั่นน่ะเขาเถียงกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว สิ่งที่ต่างกันก็มีแค่อะไรจะเปลี่ยนแปลงไปเร็วแค่ไหนเท่านั้นแหละ" บิ๊กบอสกูเกิ้ลกล่าว ก่อนจะเผยด้วยว่า จากที่ไปเกาหลีเหนือมา ทำให้เขาคิดว่า เทคโนโลยีเป็นตัวบีบคั้นให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้เหมือนกัน ถ้าเกิดว่าประชาชนไปรู้ในสิ่งที่ไม่ควรจะรู้มากเกินไป

"ตอนนี้ทุกคนมีปากเสียงมีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่จะโพสต์หรือแชร์นั่นนู่นนี่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมากีดกันประชาชนออกจากเทคโนโลยีการสื่อสารตรงนี้" ชมิดต์กล่าว

ด้านบอสสาวเฟซบุ๊กแย้งว่า แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าถึงทุกคนได้จริง ยกตัวอย่างเช่นอินเตอร์เน็ต ที่ถ้าหากนับทั้งโลกแล้ว ตอนนี้มีเพียงประชากรร้อยละ 40 เท่านั้นที่มีใช้

ปิดท้ายด้วยข้อคิดของสัตยา นาเดลลา ประธานบริหารไมโครซอฟท์ ที่ว่า แม้ทุกวันนี้การแข่งขันด้านไอทีจะสูงมาก แต่เจ้าของกิจการด้านนี้ก็ควรมีทัศนคติแง่บวกไว้เสมอ

"ถ้าคุณทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีคุณต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดีเพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผมก็เชื่อว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นข้อได้เปรียบของมนุษย์ มันช่วยให้เราทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้"

ที่มา ข่าวสดออนไลน์