ตอบ โจทย์ที่สังคมเรียกร้อง เมื่อถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติในทันใด หลังจากที่โดนมองข้ามมานาน สำหรับค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่คิดราคาปัดเศษวินาที เป็น "นาที" กับผู้ใช้บริการที่มีอยู่ถึง 100 ล้านเลขหมายในปัจจุบัน

คลิก!!!

เพราะทันทีที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการ คุ้มครองผู้บริโภค เสนอหลักการกำหนดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นวินาที ให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาเมื่อช่วงปลายปี 2557

เปิด ปีใหม่มาในวันที่ 6 ม.ค.2558 ก็ลงมติเห็นชอบ พร้อมส่งเรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบในหลักการคิดค่าบริการดังกล่าว และเตรียมนำไปปฏิบัติ

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะกำกับดูแลผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ขานรับทันที

เรียก หารือด่วนผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

เพื่อดูความเป็นไปได้ในการการคิดค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือตามจริงเป็น "วินาที" แทนการปัดเศษขึ้นเป็น "นาที"

"เรื่อง นี้ได้รับการประสานมาจากสปช. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2557 และ กสทช. ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2557 มี นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขา ธิการ กสทช. เป็นประธาน พร้อมเรียกค่ายมือถือหารือครั้งนี้เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่าสามารถทำได้ จะทำอย่างไรถึงจะคืนความสุข ให้ประชาชนได้ เพราะขณะนี้แรงกดดันมาอยู่ที่กสทช."

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าว

ผล การหารือได้ข้อสรุปผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือจะทำโปรโมชั่น ใหมที่คิดค่าบริการเป็นวินาที เริ่ม 1 มี.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนผู้บริโภคที่ใช้ โปรโมชั่นเดิมสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นใหม่โดยไม่เสียค่าบริการ

ส่วนโปรโมชั่นเดิมที่คิดค่าใช้บริการตามนาทีจะยังมีอยู่ โดย กสทช.จะใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี เช็กผลตอบรับการใช้งาน

ทาง ค่ายมือถือทั้ง 5 รายต่างรับปากว่ายินดีที่ออกโปรโมชั่นใหม่ที่คิดค่าบริการจริงเป็นวินาที และจะไปพัฒนาระบบบิลลิ่งซิสเต็มสำหรับการคิดค่าบริการเป็นวินาที แต่ต่างต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก พร้อมกับมีสีหน้าที่เคร่งเครียดหลังหารือเรื่องนี้เสร็จสิ้น

นาย ฐากรกล่าวว่า ความจริงต้องการจะให้ทางผู้ประกอบการมือถือสามารถทำได้ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ แต่ทางผู้ประกอบการต้องการเวลาไปปรับระบบ และวันที่ 14 ก.พ. อาจจะไม่ทัน ดังนั้นจึงเห็นร่วมกันว่าไม่เกิน 1 มี.ค.นี้

ส่วนเรื่อง อื่นๆ อาทิ การผูกแพ็กเกจที่มีเงื่อนไข จ่ายค่าบริการล่วงหน้าไปแล้ว เป็นการบ้านที่ทางผู้ประกอบการมือถือต้องกลับไปทำมา โดยกสทช.ขอยืนยันว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ประชาชนได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อน ที่อย่างมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม

ด้านตัวแทนเอไอเอส กล่าวว่า ปัจจุบันเอไอเอสมีโครงสร้างราคาคิดเป็นนาที ส่วนโครงสร้างราคาที่คิดเป็นวินาที เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ต้องใช้เวลา และจากนี้ต้องดูเงื่อนไขขอเวลาก่อนว่าจะสามารถทำได้ตามเวลาหรือไม่ แต่เอไอเอสจะทำอย่างเต็มที่

ส่วนตัวแทนของทรูกล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาคือ ระบบจัดเก็บเงิน(บิลลิ่ง ซิสเต็ม) ที่จะต้องกลับไปพัฒนา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่บริษัทต้องไปดำเนินการ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้กำหนดโครงสร้างอัตราค่าบริการของแต่ละโปรโมชั่น เป็นไปตามพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าอยู่แล้ว

ในขณะที่ กสทช. ฝั่งคุ้มครองผู้บริโภค นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา รับว่าข้อสรุปดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์ เพราะยังไม่ได้รวมถึงทุกโปรโมชั่น การให้ผู้ประกอบการ มือถือออกโปรโมชั่นใหม่ คิดค่าบริการเป็นวินาทีเป็นเพียง โปรโมชั่นทางเลือกเท่านั้น แต่ยังไม่มีการพูดถึงมาตรการกำกับดูแลที่ กสทช. จะใช้บังคับผู้ประกอบการได้

"ใน การหารือกับผู้ประกอบการมีการพูดถึงการปรับทั้งระบบอุตสาหกรรม ให้เลิกคิดค่าบริการแบบมีการปัดเศษของวินาทีเป็นนาที แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ตอบรับ ทำให้ในที่สุดได้ข้อตกลงเพียงว่าจะมีการออกโปรโมชั่นใหม่ที่คิดค่าบริการตาม จริงโดยไม่ปัดเศษภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้"

นายประวิทย์กล่าว ว่า จากนี้ทาง สปช. และสังคม ต้อง ตอบว่าต้องการการคิดค่าบริการเป็นวินาทีที่เป็นโปรโมชั่น ทางเลือกหรือไม่ ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นนาทีนั้น พบว่าประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนในปัจจุบัน 100 ล้าหนเลขหมาย จะได้รับผล กระทบทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่จะใช้บริการเกิน 1 นาที และมีเศษวินาที

โอกาสที่โทร.ลงตัวครบ 1 นาทีคิดเป็น 1 ใน 60 เท่านั้น และมีถึง 99% โทร.เป็นวินาทีที่ถูกปรับเศษเป็นนาทีทั้งหมด จึงประเมินว่าทุกวันจะมีการใช้งานที่ถูกปรับเศษวินาทีเป็นนาที เกิน 100 ล้านนาที รวมต่อเดือนกว่า 3,000 ล้านนาที ทำให้ผู้ประกอบการมือถือได้รับรายได้ส่วนเกินมากกว่า 4,500 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นปีมากกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท

"เข้าใจได้ว่า สิ่งที่มีการเสนอขึ้นมาในครั้งนี้และได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิก สปช. อย่างล้นหลาม ก็คือต้องการให้ระบบบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยมีการคิดค่าบริการ จากปริมาณการใช้งานจริง ไม่ใช่เรียกเก็บเงินจากยอดที่มีการปัดเศษวินาทีในทุกๆ ครั้งของการใช้งาน ดังนั้นจึงไม่อาจตอบโจทย์ด้วยการมีรายการส่งเสริมการขายเพียงบางส่วนให้ เลือก แต่ต้องทำให้เป็นระบบของการคิดตามปริมาณการใช้งานทั้งหมด"

นาย ประวิทย์กล่าวและว่าถ้าจะปัดเศษก็ปัดในระดับยอดรวมของรอบบิล ไม่ใช่ปัดกันทุกๆ ครั้งของการโทร. ซึ่งข้อเรียกร้องนี้สมเหตุสมผลโดยพื้นฐานอยู่แล้ว กสทช.และผู้ประกอบการจึงไม่ควรพยายามทำให้เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนหรือเกิด การเข้าใจผิด ว่าเป็นเรื่องการเปลี่ยนระบบการคิดเงินหรืออัตราค่าบริการ เพราะมันคนละเรื่องกัน

อย่างไรก็ตามมาตรการปรับการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาที ที่กำลังจะเริ่มขึ้นแม้ยังไม่เต็มรูปแบบ 100% แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่ดี

ที่มา ข่าวสดออนไลน์