คลิก!!!

ในช่วงนี้เราจะพูดถึงญี่ปุ่นในมุมมองของหนังสือกันมากหน่อยครับเนื่องจากตัวผมเองต้องเดินทางไปร่วมงานมหกรรมหนังสือทั้งในยุโรปและในละแวกเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องพูดเลยว่าการเติบโตของหนังสือเป็นไปอย่างเข้มข้นและน่าสนใจจริงๆ

ขณะที่เขียนบทความนี้ผมนั่งอยู่ที่เวียดนามครับ ในร้านหนังสือที่ผมเฝ้ามองมาสักระยะหนึ่งแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับประเทศนี้คือ “ความต้องการที่จะให้คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นในทางที่ดี” คนเวียดนามหลายคนมองว่าคนแก่คือรอยต่อจากระบบคอมมิวนิสต์ที่เข้มข้น ขณะที่คนรุ่นปัจจุบันคือคนที่อยู่ในช่วงพัฒนาและรับวัฒนธรรมรวมถึงความเจริญเข้ามา ดังนั้นกลุ่มคนที่พร้อมในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศมากที่สุดก็คือคนรุ่นใหม่ หมายถึงเด็กๆ ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า

ที่เวียดนามต้องยอมรับว่ากระแสของเกาหลีเบาบางลงมากแล้วหากเทียบกับในหนึ่งปีก่อนที่ผมเดินทางมา โดยตอนนี้มีกระแส “ญี่ปุ่น” เข้ามาแทนที่ ในที่นี้มันไม่ได้เริ่มเข้ามาด้วย “ธุรกิจบันเทิง” นะครับ แต่ญี่ปุ่นเข้ามาด้วย “การสนับสนุนทางการเมือง” ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยยกระดับเวียดนามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดินในโฮจิมินห์ หรือรถไฟฟ้าในฮานอย รวมถึงถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ที่จะเชื่อมต่อเมืองต่างๆ เข้าด้วยกันอีกด้วย (ตรงนี้จะมาพร้อมกับการให้ความรู้เรื่องการขับขี่รถยนต์ หรือวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งถือว่าดีมากๆ)

อันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของเวียดนามมากครับ หากใครเคยมาประเทศนี้จะรู้ว่าการเดินทางค่อนข้างยาก ไม่เคารพกฏจราจร จะเลี้ยวตอนไหนก็ได้หรือจะมั่วไปเลนไหนก็ได้ วุ่นวายมาก ที่สำคัญเวียดนามยังขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีมอเตอร์ไซค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว ดังนั้นการเข้ามาสนับสนุนเรื่องการคมนาคมหรือโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นจึงเปรียบดั่งการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงจนถึงขนาดคนเวียดนามเองก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าภายหลังที่รถไฟฟ้าทั้งหลายสร้างเสร็จ ชีวิตประจำวันของพวกเขาจะเปลี่ยนไปขนาดไหน? นี่คือคำถามที่คนในประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนามไม่ได้สัมผัสมานานแล้ว

เหตุนี้เองที่ “ญี่ปุ่น” เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในสังคมประเทศ ตอนนี้ทุกอย่างที่เป็นญี่ปุ่นเติบโตมาก คนเวียดนามมี Stereotype ต่อญี่ปุ่นว่าเป็นคนที่มีระเบียบวินัย เจริญ และน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หนังสือสอนเลี้ยงลูก ตลอดจนหนังสือเด็กต่างๆ จึงเป็นที่ต้องการอย่างสูงครับ

และอีกหนึ่งอย่างที่เข้ามามีอิทธิพลในเวียดนามก็คือ “การ์ตูนญี่ปุ่น” หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า “มังงะ” ครับ เหตุผลก็คือเวียดนามแต่เดิมเป็นประเทศที่ชอบอะไรแบบ Step by step คือเข้าใจง่ายและบอกมาเลยว่าถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นต้องมีขั้นตอนอย่างไร แต่การเข้ามาของการ์ตูนเรื่องหนึ่งชื่อว่า “โดราเอม่อน” คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปตลอดกาล

โดราเอม่อนเข้ามาเปลี่ยนโลกและทัศนคติของคนในเวียดนาม สิ่งที่พ่อแม่อยากให้ลูกได้จากการ์ตูนเรื่องนี้คือ “จินตนาการก็สอนคนได้” สุดท้ายแล้วประเทศคอมมิวนิสต์แบบนี้นี่แหละ ที่ให้จินตนาการกับเด็กมากกว่าประเทศประชาธิปไตยรอบข้าง ประเทศอย่างเวียดนามนี่แหละที่พยายามหาข้อดีของจินตนาการมาให้เด็กๆ ได้รู้โดยไม่เคยออกข่าวปรักปรำสิ่งเหล่านี้ว่าทำให้คนฆ่ากัน ดังนั้นทุกวันนี้ เด็กเวียดนามแทบทุกคนจะมองโดราเอม่อนเป็นพระเจ้าเลยครับ มีการตีพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง และร้านหน้งสือแทบทุกแห่งในประเทศจะมีการ์ตูนเรื่องนี้ขาย ผมว่าคอมมิวนิสต์ที่บอกให้ลูกหลานอ่านโดราเอม่อนเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับ

(หนังสือทุกเล่มในเวียดนามจะต้องผ่านการยอมรับโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก่อนนะครับ ห้ามตีพิมพ์เองเด็ดขาด เขาต้องเห็นว่าหนังสือเหมาะสมต่อการจัดจำหน่ายเท่านั้น)

ปัจจุบันการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาในเวียดนามเยอะมากครับ โดยเฉพาะเรื่องที่จะให้แรงบันดาลใจอย่างเช่นการ์ตูนกีฬาอย่างสแลมดังก์ หรือกัปตันสึบาสะ นอกจากนี้การ์ตูนชื่อดังจากญี่ปุ่นเช่น One Piece, Detective Conan, Crayon Shin-Chan ก็มีขายในตลาดเช่นกันครับ

ที่สำคัญที่สุดคือเวียดนามอยากให้คนได้อ่านหนังสือเยอะๆ อยากให้เด็กๆ ได้เข้าถึงการ์ตูนสนุกๆ ราคาการ์ตูนในประเทศนี้อยู่ที่ประมาณ 20-25 บาทเท่านั้น ซึ่งพูดตรงๆ ว่าคุณภาพการพิมพ์ดีมากจนผมเองยังประหลาดใจกับราคาขายเลยครับ อันนี้รวมถึงหนังสืออื่นๆ ในท้องตลอดด้วย สมมติวรรณกรรม 600-700 หน้า มีภาพ 4 สี ยังไงราคาก็ไม่ถึง 100,000 ดองหรือประมาณ 150 บาทแน่ๆ (ในไทยคงไปไกลถึงหลักพัน) ค่าครองชีพของเวียดนามต่ำกว่าไทยก็จริงครับ แต่ในขณะที่หลายๆ อย่างกำลังปรับราคาสูงขึ้น หนังสือกลับเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามกำหนดราคาให้ถูกที่สุด

สุดท้ายผมคิดว่าการ์ตูนเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยปรับทัศนคติของคนได้จริงๆ และการ์ตูนก็ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือแห่งยุคสมัยที่เราต้องพยายามปล่อยทิ้งไปเมื่ออายุมากขึ้น เราอยู่กับมันได้เสมอและผมเชื่อว่าการ์ตูนเรื่องเดิมเมื่อมาอ่านในช่วงที่เรามีความรู้จักโลกมากขึ้น ความหมายของมันก็เปลี่ยนไป กลายเป็นสิ่งที่สอนเราได้เสมอครับ

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือติดต่อทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ

เรื่องโดย : ปูมิ www.marumura.com

ที่มา http://www.marumura.com/