‪โพสต์เรียกร้องความสนใจหรือต้องการความช่วยเหลือ‬ โดย นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
2016-03-27 15:32:39
Advertisement
Pyramid Game

เฟซบุ๊ก เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่บทความเขียนโดยนายแพทย์ วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์และเสนอแนะการแก้ปัญหาด้านจิตวิทยา โดยมีรายละเอียดดังนี้

‪โพสต์เรียกร้องความสนใจหรือต้องการความช่วยเหลือ‬

“หมอครับ …เราจะแยกยังไงระหว่างคนที่เรียกร้องความสนใจกับคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ บนโลกโซเชียล?”

… นี่เป็นคำถามที่ผมมักถูกถามบ่อยครั้ง ไม่ใช่แค่เพียงเมื่อวานนี้ที่เกิดเหตุน่าสลดจากการที่เด็กสาวคนหนึ่งส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านทางเฟซบุ๊กของเธอ และเรื่องจบลงตรงที่ สัญญาณ S.O.S ที่ถูกส่งออกไปนั้น ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือกลับมาหาเธอได้ทันเวลา

” ไม่ต้องแยกครับ ” …ผมตอบแบบนี้เสมอ
ไม่ต้องแยกจริงๆ เพราะสุดท้ายคนเหล่านี้ คือ คนที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งหมดนั่นแหละ !!

กลุ่มที่ถูกตราหน้าว่าชอบเรียกร้องความสนใจ (Attention-seeker) มักจะถูกมองด้วยความเหยียดหยามจากคนรอบข้าง มักถูกสั่งสอนด้วยคำต่อว่าที่รุนแรงจากคนใกล้ตัว สุดท้ายมักจบลงด้วยคำพูดที่ว่า…

“อย่าเรียกร้องความสนใจ”

จบ…จบแค่ตรงนี้เสมอ…จบแบบเจ็บๆ

…น่าแปลก กลับไม่ค่อยมีคนตั้งคำถามต่อไปว่า

“บุคลิกภาพแบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร?”

“มีปมอะไรถูกซ่อนอยู่?”

“หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาการที่รุนแรงในอนาคต?”

เราไม่มีทางรู้หรอก ว่าเด็กวัยรุ่นที่เอาลิปสติกขีดแขนเป็นปื้นแล้วเขียนสเตตัสว่าอยากตาย ท้ายที่สุดจะไม่พัฒนาเป็นเด็กที่หยิบคัตเตอร์มากรีดข้อมืออย่างเงียบๆ จนต้องเข้าไอซียู

… ปัญหาทางสุขภาพจิตระยะแรกๆ มักเป็นแบบนี้แหละครับ ถูกแสดงออกอย่างไม่ตรงไปตรงมาและมักถูกมองข้าม สุดท้ายถูกปัดไว้ไปใต้พรมหรือฝังกลบไว้อยู่ใต้ดิน

รอสะสมพลังจนกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่!

และจะแยกไปทำไม ในเมื่อ….

คนที่ต้องการความช่วยเหลือ คือคนที่ “สังคม” ตัดสินว่า “เค้าน่าจะทำจริงๆ”

ส่วนคนที่เรียกร้องความสนใจ ก็คือคนที่ “สังคม” ตัดสินว่า “เค้าไม่ทำจริงๆ หรอก”

… เส้นบางๆ ตรงกลางที่ถูกขีดขึ้นมาโดย “คนอื่นในสังคม”

เราชอบตัดสินเรื่องของคนอื่น บนพื้นฐานชีวิตของตัวเอง ประสบการณ์ของตัวเอง และความเชื่อของตัวเอง ….. ทั้งที่เป็นคนนอกแท้ๆ ไม่ได้อยู่กับเขา 24 ชั่วโมง ไม่ได้อยู่กับเขามาตั้งแต่เกิดซักหน่อยเลย จะทำจริง หรือ ไม่ทำจริง … เจ้าตัวต่างหากที่รู้ดีที่สุด

โลกเราเปลี่ยนไป…

ผู้ใหญ่จากยุคสมัยก่อนอาจมองว่าการเขียนหรือโพสต์อะไรไปในเฟซบุ๊กของเด็กสมัยนี้ คือ การโชว์ออฟ การเรียกร้องความสนใจ การเรียกไลค์ การระบายอารมณ์ หรือแม้กระทั่งการอยากเป็นคนโด่งดังแบบเน็ตไอดอล

นั่นเพราะคนเหล่านั้นขาดความเข้าใจในความสัมพันธ์ของสังคมโซเชียลกับชีวิตเด็กยุคดิจิตอลในปัจจุบัน

เด็กรุ่น Generation Me เป็นต้นมา ได้หลอมรวมการสื่อสารในชีวิตประจำวันของตัวเอง ทั้งการรับสื่อมาและการสื่อสารออกไป เข้ากับโลกโซเชียลมีเดียไปหมดแล้ว โซเชียลมีเดียจึงไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือสื่อสารอีกต่อไป แต่มันผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราไปโดยปริยาย

เพราะฉะนั้น การแสดงออกถึงเจตจำนงแห่งความตายผ่านทางโลกโซเชียลในยุคปัจจุบันนี้ จึงมักจะสะท้อนบางอย่างภายใต้จิตใจของคนคนหนึ่งได้เสมอ ไม่ว่าจะตั้งใจทำจริงๆ หรือไม่ก็ตาม

เอาเป็นว่า ถ้าเรื่องแบบนี้ผ่านตาเรามา…เข้าไปช่วยเหลือเขาเถอะครับ ตั้งสติให้ดี ลดอคติที่อยู่ในใจ สุดท้ายจะให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง หรือ พิมพ์แค่ “สู้ๆ” “เอาใจช่วยนะ” ก็ดีมากแล้ว

ไอ้แบบพวกนักเลงคีย์บอร์ดรุมกันแกล้ง รุมกันสับ รุมกันยุ นี่ผมขอเลยครับ…นี่มัน “ร่วมด้วย ช่วยกันฆ่า” ชัดๆ

 

ที่มา  มติชนออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X