“น้ำข้าว น้ำซุป น้ำหวาน” กระตุกความคิดการกิน
2016-04-10 20:11:11
Advertisement
Pyramid Game

ในวันที่อาหารทั้งสามมื้อมีเพียง “น้ำข้าว-น้ำซุป-น้ำหวาน” ใส่กระบอกวางบนถาดข้างเตียง จึงได้รับรู้ว่าทั้ง 3 กระบอกในคำจำกัดความที่บอกไว้ในป้ายในถาด “อาหารเหลวใส”

“อร่อยแฮะ”

แน่นอนไม่ใช่ความอร่อยที่เกิดจากรสชาติวิเศษอะไร

แต่เป็นเพราะลิ้นไม่ได้สัมผัสอะไรมาหลายวันด้วยคำสั่ง “งดน้ำ งดอาหาร” ของหมอ

ที่จะชวนคุยกันวันนี้ไม่ใช่เรื่องชวนไปกินน้ำข้าวหรอกน่า

เพียงแต่น้ำข้าวทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า “อาหารคืออะไร” กันแน่

ลองค่อยๆ นึก แท้จริงแล้วอาหารคือสารที่ทำให้ร่างกายเติบใหญ่ แข็งแรง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะต่างๆ หมอคือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนี้

แต่ละสภาพของร่างกายควรกินอาหารอย่างไร

“กินที่ควรกิน ไม่กินที่ไม่ควรกิน” ตามความป่วยไข้

ในวันที่ต้องกินตามการตัดสินใจของคนอื่นที่คิดจากประโยชน์ที่จะเกิดกับร่างกายเรา

“คำสั่งหมอ” ทำให้ย้อนคิดถึงการกินอาหารของคน “ที่เห็นและเป็นอยู่เรากินเพื่อสนองอะไร”

อาจจะเริ่มต้นจาก “กินเพื่อดำรงชีวิต”

ต่อมาอาจจะเติม “ความอร่อย” เข้าไป จากนั้นเสริมไปที่ความหรูความเท่

และ “กินเพื่ออวดความเหนือกว่าคนอื่น”

หรู เท่ อร่อยกว่าตามคำโฆษณา หรือกระแสความนิยม

เมื่อ “อาหารเป็นสินค้า” ความอร่อยจึงเสริมเติมด้วยสารเคมีที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อความอร่อยที่เหนือกว่า

เมื่อกินเพื่อ “ความหรูหรา ความเท่” เพื่อ “ความเหนือกว่าที่อวดได้”

หน้าที่สำคัญของอาหารจึงพ้นไปจากเพื่อบำรุงรักษาร่างกายให้แข็งแรง ให้เซลล์ของอวัยวะต่างๆ ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์

กลับกลายเป็นว่าอาหารมาทำหน้าที่บำรุงบำเรอความภิรมย์ยินดีของจิตใจมากกว่า

เป็นความสุขที่ได้กินของอร่อย ความปลาบปลื้มที่ได้กินของหรูๆ เท่ๆ อวดให้คนอื่นอิจฉา

ทั้งที่เอาเข้าจริงบางคนรู้ด้วยซ้ำว่า ความอร่อย ความหรู ความเท่ ที่น่าอิจฉานั้น เป็นการกินที่ทำร้ายร่างกาย

“กินสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตัวเอง” ก่อให้เกิดโรคสารพัด การกินที่ควรบำรุงร่างกายให้แข็งแรงกลับเป็นสาเหตุของโรคภัยต่างๆ

แต่ใช่ว่ารู้แล้วจะเปลี่ยนแปลงกลับมา “กินที่ควรกิน กินอย่างรู้ประโยชน์ของการกินว่าเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกาย” ได้

เพราะการกินเพื่อบำเรอความสุขด้านจิตใจได้กลายเป็น “ความเคยชิน” ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว

หากให้ต้องตัดสินใจเองว่าจะกินอย่างไร คนส่วนใหญ่หรือจะว่าไปแทบทุกคนล้วนกินตามความชื่นชอบของอารมณ์ความรู้สึก ความอยากจะกินที่ความเคยชินกำหนดแทบทั้งนั้น

จนกว่าจะถึงวันที่ “หมอ” เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะต้องกินอย่างไร

ในวันนั้น “น้ำข้าว น้ำซุป น้ำหวาน” จึงเป็นเรื่องที่พึงพอใจ

เพียงแต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็เป็นแค่ชั่วครู่ชั่วยาม

ที่สุดแล้ว คนส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดก็กลับมาล่องลอยไปกับการกินเพื่อตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า “ที่เหมาะที่ควรอยู่ดี”

โรงพยาบาลจึงแน่นด้วยคนป่วย

ป่วยจากพฤติกรรมการกิน

อุตสาหกรรมยา จึงรุ่งเรือง

 

ที่มา  มติชนออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X