เปิดตำนานตามรอยซีรีส์ญี่ปุ่นในไทย
2015-03-15 11:26:12
Advertisement
คลิก!!!

ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว กระแส J-POP ถือว่าเป็นกระแสที่มาแรงมากในไทย ทั้งเพลง ละคร ดารานักแสดงญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่วัยรุ่นไทยคลั่งไคล้มากๆ คล้ายๆ กับกระแส K-POP ในปัจจุบัน พอมาถึงยุคหนึ่งกระแสญี่ปุ่นก็เริ่มห่างหาย ซาๆ ลง แต่ก็ใช่ว่าจะหายไปจากสังคมเราเลยเสียทีเดียว 

และในตอนนี้ดูเหมือนว่ากระแสทางฝั่งบันเทิงญี่ปุ่นจะเริ่มค่อยๆ กลับมาอีกครั้งแล้วค่ะ โดยเฉพาะเรื่องของ “ละครญี่ปุ่น” วันนี้ก็เลยอยากจะพาเพื่อนๆ ย้อนรอยไปกับยุคต่างๆ ของซีรีส์ญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่ามีความเป็นไปอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ


1. ยุคบุกเบิกซีรีส์ญี่ปุ่น “ไอทีวี”
 



ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนนู้นนน ถ้าอยากดูซีรีส์ญี่ปุ่นต้องเปิดไปช่องนี้เลยค่ะ “itv ทีวีเสรี” ถือว่าเป็นยุคที่ซีรีส์ญี่ปุ่นตีตลาดในไทยเลยค่ะ คนไทยได้รู้จักและหลงรักซีรีส์ญี่ปุ่นก็จากช่องนี้เลยค่ะ เวลาฉายก็จะเป็นเวลา Prime Time ซึ่งก็คือเวลาหลังข่าวภาคค่ำนั่นเอง

 




ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องแรกของไอทีวี ก็คือเรื่องนี้เลยค่ะ “สื่อรักออนไลน์” (With love) นำแสดงโดย ยูทากะ ทาเกะโนอุจิ และมิซาโตะ ทานากะ ฉายในไทยในปี พ.ศ. 2542 ค่ะ ส่วนเรื่องดังอื่นๆ ที่พูดออกไปแล้วแฟนซีรีส์ญี่ปุ่นต้องร้อง “อ๋อออออ!!!” ก็เช่น

 




เรื่อง “รักนี้เพื่อเธอ” (Love Generation), “วุ่นนักรักซะเลย” (Long Vacation) ที่ได้ “ทาคุยะ คิมุระ” พระเอกระดับท็อปของวงการละครญี่ปุ่นมารับบทแสดงนำ และทำให้เขากลายเป็นดาราขวัญใจของสาวๆ ไทยในขณะนั้นจนถึงทุกวันนี้เลยค่ะ หรือจะเป็นเรื่อง “อยู่เพื่อรัก” (Kamisama, Mou Sukoshi Dake) นำแสดงโดย ทาเคชิ และ เคียวโกะ ละครญี่ปุ่นที่ทำให้คนไทยได้รู้จักกับนักแสดงสาวสุดน่ารักจากแดนปลาดิบอย่าง “เคียวโกะ ฟูคาดะ” 
 
 




หรือเรื่อง “GTO (Great Teacher Onizuka)” นำแสดงโดย ทาคาชิ โซริมาจิ และนานาโกะ มัตสึชิมะ ละครแนว School ที่ครองใจทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น จนได้รีเมคสร้างใหม่อีกครั้งในปี 2012 ค่ะ ส่วนใหญ่ก็จะออกแนวละครรักญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะช่วงนี้ละครญี่ปุ่นยังไม่ได้เข้าสู่ยุค Trendy Drama ค่ะ


ซึ่งในยุคนี้มันก็จะมีช่วงที่ซีรีส์ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ขาลงด้วยค่ะ อยู่ๆ ก็ถูกโยกเวลา ให้มาฉายในช่วงเย็นแทน แล้วค่อยๆ กลับมาบูมขึ้นอีกครั้ง โดยได้กลับมาฉายในเวลาสามทุ่มตามเดิม ในยุคนี้เรื่องดังๆ ก็เช่น 

 




“สูตรรักข้าวห่อไข่” (Lunch no Joou) นำแสดงโดย ยูโกะ ,ซาโตชิ ,ยามะพี, โยสุเกะ เอกุจิ และสึสึมิ ชินจิ ,เรื่อง “ขอสวยอีกครั้ง” (Seikei Bijin) นำแสดงโดย เรียวโกะ โยเนะกุร่า และคิปเป ชิอิน่า และ “ผม...ฮีโร่นะครับ” (Hero) แสดงโดยดาราคู่ขวัญ ทาคุยะ คิมูระ และทาคาโกะ ละครยอดฮิตครองใจคนรักละครญี่ปุ่น จนในปี 2014 ได้กลับมาพร้อมกับภาคที่ 2 แล้ว!

ก่อนหน้านี้ก็จะมีช่อง 5 ฉายประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง แล้วก็ทางช่อง3 ก็ดูจะเป็นช่องบุกเบิกเช่นกันค่ะ จะฉายเวลาประมาณบ่าย 3 โมง 4 โมงเย็น เป็นช่วงเวลาที่เด็กวัยรุ่นสมัยนั้นต้องรีบกลับจากโรงเรียนเพื่อมาดูละครกัน ช่อง 9 ก็มีด้วยเช่นกันค่ะ แต่ถ้าพูดถึงยุคที่ละครญี่ปุ่นดังแบบสุดๆ คงต้องยกให้กับยุค “ไอทีวี” เลยค่ะ 

ละครญี่ปุ่นในสมัยก่อน ส่วนใหญ่ก็จะออกแนวละครรักญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะช่วงนี้ละครญี่ปุ่นยังไม่ได้เข้าสู่ยุค Trendy Drama ค่ะ


2. ยุคซีรีส์เกาหลีครองเมือง
มาถึงยุคนี้ ซีรีส์ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังไม่ถึงกับเงียบหายไปมาก และเป็นช่วงที่กระแสเกาหลีค่อยๆ กำลังเข้ามาพอดี มีทั้งเพลงและละครที่ดูจะเป็นแนวที่คนไทยชื่นชอบกันมากๆ ทั้งนักแสดงที่ดูหล่อ ดูสวย พล็อตละครแนวรักๆ กลิ่นไอแบบเกาหลี ที่มีความน่ารักกุ๊กกิ๊กจนต้องจิกกัดหมอน ดูเป็นแนวใหม่ และถูกใจสำหรับคนไทยในยุคนั้นมาก เลยทำให้กระแสละครญี่ปุ่นเริ่มแผ่วเบาลงค่ะ สถานะของละครญี่ปุ่นในตอนนั้น จากที่เคยเป็นกระแสหลักกลายเป็นกระแสรองเลยทันที เรื่องที่มาฉายต้องการันตีได้ถึงเรตติ้งที่ต้องดี ซีรีส์ญี่ปุ่นในยุคนี้ก็เช่น เรื่อง
 
 




“Good Luck!!” นำแสดงโดย ทาคุยะ คิมูระและโค ชิบาสากิ ซีรีส์สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับอาชีพสายการบิน เขาว่ากันว่าเรื่องนี้ทำให้คนญี่ปุ่นแห่กันไปทำงานในด้านสายการบินมากขึ้นเลยทีเดียว เรื่อง “อยากกู่ร้อง บอกรัก...ให้ก้องโลก” (Sekai no chushin de, ai o sakebu) นำแสดงโดย ยามาดะ ทาคายูกิ และอายาเสะ ฮารุกะ และเรื่องหนึ่ง คาดว่าเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีเลยค่ะ 

 


“โมโม่ ที่รัก” (Kimi wa Pet) 
นำแสดงโดยสาว “โคยูกิ”และจุน มัตสึโมโต้ แห่งวงอาราชิ




3. ยุคมืดของซีรีส์ญี่ปุ่นในไทย
และแล้วก็เข้ามาสู่ยุคขาลงแบบจมดิ่งสุดๆ ยุคมืดของซีรีส์ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเปิดไปช่องไหน ถ้าไม่ใช่ละครไทยก็จะเป็น “ละครเกาหลี” ช่วงนั้นเราเองก็ไปติดงอมแงมอยู่พักนึงค่ะ แต่พอเห็นว่าพล็อตเริ่มอยู่ตัว เนื้อเรื่องยาวไปหน่อย ก็กลับมาหารังรักของซีรีส์ญี่ปุ่นเช่นเดิม ในช่วงแรกๆ ของยุคนี้ก็ยังพอหาดูซีรีส์ญี่ปุ่นได้อยู่บ้างค่ะ หาดูได้ในเวลาดึกๆ  คือช่วงเวลาห้าทุ่มถึงเที่ยงคืน ซีรีส์ในยุคนี้ก็เช่น 

 




“นายซ่า ท้าเด็กแนว” (Dragon Sakura) นำแสดงโดย ฮิโรชิ อาเบะ, ยามะพี,อะรากากิ ยูกิ, เทปเป โคอิเกะ “ปฏิบัติการ...โนบุตะ (เปลี่ยนเธอให้สวยปิ๊ง)” (Nobuta wo Produce) นำแสดงโดย คาเมะ, ยามะพี และมากิ ฮิโรกิตะ “เกม รัก และศักดิ์ศรี” (Pride) นำแสดงโดย ทาคุยะ คิมูระ และยูโกะ ทาเกะอุ ก็จะออกแนวเป็นละครแนว School ให้แง่คิดดีๆ ในการใช้ชีวิตค่ะ แล้วปิดท้ายด้วย “แชตรักหนุ่มรถไฟ” (Densha Otoko) นำแสดงโดย อิโต้ อะสึชิ และอิโต้ มิซากิ เรื่องราวความรักที่ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงบางส่วนของหนุ่มโอตาคุคนหนึ่ง 
 
 




ทางช่อง 7 ในเวลา 9 โมงเช้าของทุกวันเสาร์-อาทิตย์เองก็มีละครญี่ปุ่นมาฉายควบคู่กับละครเกาหลีเช่นกัน เช่น เรื่อง “Hana Yori Dango” F4 ฉบับออริจินัล หรือจะเป็นเรื่อง “Nodame Cantabile” ก็เรียกได้ว่าได้ผลตอบรับที่ดีพอสมควรค่ะ


ต่อมาซีรีส์ญี่ปุ่นกลายเป็นของหายาก ทางช่องไอทีวีก็ไม่มีโปรแกรมรายการซีรีส์ญี่ปุ่นอีกต่อไป ทุกพื้นที่ของเรื่องบันเทิงต่างประเทศกลายเป็นของ “เกาหลี” ที่เป็นผู้ยึดครองแทน เด็กวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงนี้จะไม่ค่อยรู้จักดาราญี่ปุ่นกันแล้วค่ะ (แต่ก็มีบ้างบางส่วนที่สนใจบันเทิงญี่ปุ่น) ถ้าไปพูดถึง “อาราชิ” “ทาคุยะ” “SMAP” หรือแม้แต่ “ยามะพี” เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักกันแล้วค่ะ (ทำไมยกตัวอย่างแต่ดาราผู้ชายล่ะ?) อย่าพูดถึงละครญี่ปุ่น คงไม่มีใครรู้จักหรือดูกันแน่ๆ ส่วนพวกแฟนคลับที่ดูมาตั้งแต่รุ่นบุกเบิกก็จะหาดูละครได้ยากมากๆ ค่ะ แต่พวกเราก็ยังสรรหาช่องทางในการเข้าถึง วิธีการของเราก็คือ 

(1.) ดูตามเว็บไซต์ต่างๆ
หาดูตามออนไลน์ ตามเว็บไซต์ต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบซับอังกฤษ

(2.) ดูผ่านสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น
 ติดตั้งช่องเคเบิ้ล ดูสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่นไปเลย แบบนี้ก็จะติดตามได้แบบ real time แต่ก็ต้องเป็นคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นค่ะ 

(3.) ดูผ่านช่องทีวีออนไลน์
ก็เริ่มเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตเรืองรองแล้ว จะดูซีรีส์ก็ดูผ่านช่องทีวีออนไลน์นี่แหละ อาจจะกระตุกๆ ไปบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ดูนะ และก็จะเจออีกหนึ่งอุปสรรคที่คล้ายๆ กับดูผ่านช่องญี่ปุ่นเหมือนข้อที่แล้วค่ะ เป็นช่องทางที่เหมาะกับคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่น เพราะมันจะไม่มีซับไตเติ้ล เป็นการดูแบบ real time แต่ถึงอย่างนั้นก็จะมีติ่งญี่ปุ่นบางคน (อย่างเช่นนางคนนี้) ก็จะดูๆ ไป แม้จะไม่ได้เมพภาษาญี่ปุ่นก็ตาม ดูไปเรื่อยๆ ก็จะฟังรู้เรื่องไปเองค่ะ! 

(4.) ดูแบบซับไทยผ่านช่องทางออนไลน์ 
ห๊า! มีซับไทยด้วยเหรอ ขอบอกว่ามีค่ะ แต่ก็ยังน้อยอยู่ การที่โหลดซีรีส์แล้วเอามาแปลนั้นจะทำได้อย่างไม่กว้างขวางเท่ากับซีรีส์เกาหลีค่ะ เพราะเป็นเรื่องของ “ลิขสิทธิ์” ที่ทางญี่ปุ่นเขาเข้มมากๆ มันก็จะมีช่องทางใต้ดินที่แฟนซีรีส์ญี่ปุ่นจะรู้ๆ กันอยู่ แล้วเข้าไปรับชมทางช่องนี้ และดูเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมค่ะ แม้จะได้ดูช้าหน่อย แต่ก็มีซับไทยให้ดู ถึงจะดูได้ตามเว็บไซต์ออนไลน์แบบซับไทย แต่สถานะก็เหมือน “คบชู้” ค่ะ ต้อง “หลบๆ ซ่อนๆ” แต่ถึงอย่างนั้นคนญี่ปุ่นเองก็ทราบนะคะว่า คนต่างประเทศมักจะดูซีรีส์ผ่านทางออนไลน์ ตอนนั้นที่นั่งเรียนภาษาญี่ปุ่น และมีนักเรียนคนหนึ่งถามว่า “อยากจะดูซีรีส์ญี่ปุ่นดูได้ที่ไหนเหรอคะเซ็นเซย์” เซ็นเซย์ก็ตอบว่า “ในออนไลน์ก็ดูได้นะ เซ็นเซย์เห็นเขาอัพกันเต็มเลย” ฮา...


4. ยุคฟื้นคืนชีพของ “ซีรีส์ญี่ปุ่น”
หลังจากที่ปล่อยให้แฟนซีรีส์ญี่ปุ่นต้องขุดค้นหาแหล่งดูซีรีส์อย่างยากลำบาก วันนี้ก็เริ่มเข้าสู่ยุคฟื้นคืนชีพของซีรีส์ญี่ปุ่นแล้วค่ะ จะเห็นได้ว่า ในช่วงนี้เราเริ่มเห็นซีรีส์ญี่ปุ่นฉายตามช่องโทรทัศน์ของไทยมากขึ้น ทั้งช่องฟรีทีวี และช่องดิจิตอล เรียกได้ว่า ดูกันแทบไม่ทันเลยก็ว่าได้ โดยมีช่องโทรทัศน์หลักที่เน้นนำเสนอซีรีส์ญี่ปุ่นอย่างสม่ำเสมอก็คือ ช่อง “ThaiPBS”

 




ช่อง “ThaiPBS” ดูเป็นช่องที่มีช่วงของละครญี่ปุ่นแบบเห็นได้ชัดมากกว่าช่องอื่นๆ ค่ะ หลักๆ ก็จะมีฉายเวลา 2 ทุ่มครึ่งในวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลา 11 โมง หรือช่วงตอนบ่ายของเสาร์-อาทิตย์ก็มีค่ะ ช่วงแรกๆ ก็จะมีละครญี่ปุ่นนอกกระแสแต่มีคุณภาพมาฉายอย่างเรื่อยๆ แต่พักหลังมานี้ เริ่มเป็นซีรีส์ยอดนิยมจากฝั่งญี่ปุ่นมาฉาย แต่ก็ยังคงคอนเซ็ปต์ว่าต้องเป็นซีรีส์ญี่ปุ่นคุณภาพ อย่างที่เห็นได้จากเรื่อง “Ending Planner” ที่นำแสดงโดยยามะพี และอัตจัง 

 




ล่าสุดที่เพิ่งอำลาจอไปก็เรื่อง “Ando Lloyd A.I. I love You” และดูเหมือนว่าตลอดปี 2015 นี้จะมีละครญี่ปุ่นเรื่องเด็ดๆ จ่อคิวรอฉายเพี๊ยบเลยค่ะ ต้องรอติดตามชมว่าจะมีเรื่องอะไรมาเซอร์ไพร้ส์พวกเราบ้าง!

ดูเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับกระแสละครญี่ปุ่นค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสถานีโทรทัศน์ไทยที่ซื้อลิขสิทธิ์ละครญี่ปุ่นมาก็ต้องเจอกับโจทย์ใหม่ ที่ต่างจากยุคบุกเบิกก็คือ “จะทำอย่างไรที่จะเอาละครญี่ปุ่นที่คนไทยยังไม่เคยดูมาฉายเป็นที่แรกให้ได้” เพราะปัจจุบันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ค้นคว้าหาดูละครญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น ดูกันแบบ real time กันเลยก็ว่าได้ ปัญหาที่ตามมาคือ ละครญี่ปุ่นที่ไทยเอามาฉาย มันกลายเป็นเรื่องที่คนไทยเคยดูกันแล้ว แต่ด้วยความตื่นตาตื่นใจที่เห็นซีรีส์ญี่ปุ่นกลับมาในไทยบวกกับเป็นเรื่องที่สนุก ดูอีกครั้งก็ไม่เบื่อ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเลือกดูอีกครั้งค่ะ แต่ถ้าจะให้ดีแบบสุดๆ ถ้าสามารถชิงนำละครมาฉายได้เร็วก็จะดีค่ะ ไม่ถึงกับต้องให้ตรงกับเวลาออนแอร์ในญี่ปุ่น แต่ควรเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียง เพื่อไม่ให้กระแสละครนั้นห่างหายไปนานค่ะ บวกกับอีกหนึ่งปัญหาค่ะนั่นก็คือ “เสียงพากย์” ด้วยความที่แฟนๆ ซีรีส์ผ่านช่วงยุคมืดมา ทำให้คุ้นชินกับการดูเป็นซับไตเติ้ลและฟังเสียงญี่ปุ่น  เพราะได้อรรถรสมากกว่า พอต้องมาดูแบบเสียงพากย์ไทย ก็อาจไม่คุ้นชิน ดังนั้น ทีมพากย์ต้องทำการบ้านกันหนักขึ้น แต่ก็มีทางแก้เรียบร้อยแล้วค่ะ เพราะเราสามารถดูแบบเสียงญี่ปุ่นได้ทางช่องโทรทัศน์เรา

ถือว่าเป็นการกลับมาของกระแสละครญี่ปุ่นที่ดีค่ะ อย่างน้อยการฉายละครญี่ปุ่นผ่านช่องโทรทัศน์ก็ทำให้แฟนๆ มีแหล่งรับชมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเป็นการเปิดตลาดให้กับคนที่ยังไม่เคยดูละครญี่ปุ่น ได้รู้จักละครญี่ปุ่นกันมากขึ้น การที่กระแสบันเทิงญี่ปุ่นจะกลับมาโลดแล่นได้อีกครั้งก็ต้องขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักคือ ทางญี่ปุ่นเองที่อยากจะเข้ามาทำตลาดในไทยไหม รวมถึงแรงสนับสนุนจากคนไทย ถ้ามากพอก็จะเป็นตัวตัดสินใจให้กับทางญี่ปุ่นและบริษัทในไทยที่เกี่ยวข้องด้วยค่ะ 

ถ้าตีตลาดได้ดี การติดตามเพลง ละคร รวมถึงข่าวสารของวงการบันเทิงญี่ปุ่นจะเป็นไปได้สะดวกสบายมากขึ้น เหมือนกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว J-POP เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ตอนนี้เข้าสู่ยุค 2015 แล้ว ดิฉันคาดว่า “มันอาจจะยิ่งกว่าใกล้แค่เอื้อม” อีกค่ะ 
 

มันอาจเข้าสู่ยุค “ละครญี่ปุ่นอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว”



เรื่องโดย : ChaMaNow www.marumura.com

ขอขอบคุณที่มา  http://www.marumura.com/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X