เตือน “ลมชัก” ห้ามใช้ช้อน มือ อุดปาก เสี่ยงฟันหักอุดหลอดลม
2015-07-14 14:45:14
Advertisement
Pyramid Game

       แพทย์ชี้ “ลมชักในเด็ก” เกิดจากคลื่นสมองไฟฟ้าผิดปกติ มีหลายสาเหตุ เผยส่วนใหญ่มาจากผลกระทบทางสมอง รับยาต่อเนื่องหายได้เมื่อเข้าวัยรุ่น ย้ำเด็กชักให้จับนอนตะแคง เอาของทุกอย่างในปากออก เตือนห้ามเอาช้อน มือ อุดปาก เสี่ยงฟันหัก อุดหลอดลม ทำพิการ เสียชีวิต ก่อนนำส่ง รพ.
       
       นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ภาวะลมชักในเด็กเกิดจากการสร้างคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติ สาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ หรือระหว่างตั้งครรภ์มีการใช้ยาเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด สูบบุหรี่จัด หรือระหว่างคลอดมีปัญหาสมองขาดออกซิเจน หลังคลอดเด็กเกิดติดเชื้อในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นเลือดตีบ ตัน หรือได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น หรือบางครั้งก็เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ อัตราการเกิดอยู่ที่ร้อยละ 0.5 - 1 ของประชากรเด็ก แต่หากได้รับการรักษาและรับประทานยาต่อเนื่องพบว่าประมาณร้อยละ 60 - 70 สามารถหายได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
       
       นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า การชักจะแสดงออกมาหลายลักษณะโดยสัมพันธ์กับอายุ เช่น ชักเกร็ง ชักกระตุก ชักเหม่อ ซึ่งคนมักเรียกว่าฝันกลางวัน แต่ภาวะเหล่านี้สัมพันธ์กับอายุ โดยเด็กอายุไม่เกิน 1 ขวบมักพบอาการนอนสะดุ้ง งอตัว คอพับเข้าหาตัว เป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่มักจะมีภาวะตากระตุก หรือม่านตาขยายร่วมด้วย ทั้งนี้ หากพบเด็กมีอาการชักต้องปฐมพยาบาลด้วยการจับนอนตะแคงให้ศีรษะอยู่ต่ำ เอาของที่อยู่ในปากออก ไม่ให้ไปขวางทางเดินหายใจ ห้ามมุงดู ต้องเปิดให้อากาศปลอดโปร่ง และสังเกตอาการว่าเด็กชักท่าไหน พยายามปลุกเด็กเบา ๆ หากชักนานต้องรีบพาส่ง รพ. และระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายอาจจะรีบจนทำให้หัวเด็กไปกระแทกกับขอบประตู โต๊ะ ได้
       
       “ที่ผ่านมา จะพบว่าคนไทยปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักด้วยการใช้ช้อน มือตัวเอง หรืออะไรก็ตามมาอุดปากผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกันลิ้นตัวเอง ตรงนี้ห้ามทำเด็ดขาด เพราะปกติ ผู้ป่วยชัก ลิ้นจะหดตัว การหาสิ่งของอุดปาก จะทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บโดยเฉพาะฟัน ที่ยังไม่แข็งแรงมากพอ อาจจะหักและหลุดเข้าไปในหลอดลมทำให้เด็กเสียชีวิต หรือพิการ ปอดแฟบ หรือปากแตกได้ เช่นเดียวกับ การงัดแขนขณะเกร็งอยู่ อาจจะทำให้กระดูกหัก ข้อหลุด ตรงนี้ขอห้ามเลยไม่ว่าจะเป็นการปฐมพยาบาลผู้ป่วยชักในเด็กหรือผู้ใหญ่” นพ.ธนินทร์ กล่าว

 
ขอขอบคุณที่มา  http://www.manager.co.th/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X