หากตั้งครรภ์ในวัย 35+ มีความเสี่ยงอย่างไร?
2015-07-30 14:29:58
Advertisement
Pyramid Game

ขอบคุณข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ

โดย พญ.พิณนภางค์ ศรีพหล

 

“เมื่อไหร่จะแต่งงาน” “เมื่อไหร่จะมีลูก” คำถามปนทักทายยอดฮิต ที่เรามักจะถามคนรู้จัก และคำตอบยอดฮิต คือ

“ยังรอเก็บเงินก่อน เดี๋ยวต้องผ่อนรถ ผ่อนคอนโดฯ ยังไม่พร้อม รอไปก่อน”

ผู้หญิงสมัยนี้เป็น working women นะคะ

กว่าจะเรียนจบ ทำงานตัวเป็นเกลียว กว่าจะได้เงยหน้ามองหาคู่ชีวิต เวลาก็ผ่านไปสักระยะแล้ว กว่าจะเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่งงานวางรากฐานการเงินในครอบครัว

กว่าจะถึงวันที่สถานะทางการเงินพร้อมสำหรับการมีลูกสักคนวันนั้นสถานะหรือสภาพของร่างกายเรา ยังจะพร้อมอยู่หรือเปล่า

วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องสตรีตั้งครรภ์อายุมากกันนะคะ ว่าจะเสี่ยงกับอะไรกันบ้าง

ก่อนอื่นนิยามของสตรีตั้งครรภ์อายุมาก เราจะตัดที่อายุมากกว่า “35ปี” ในวันที่ครบกำหนดคลอดนะคะ

สตรีตั้งครรภ์อายุมาก จะมีความสามารถในการมีบุตรลดลง เนื่องจากรังไข่ไม่ฟิตเหมือนสมัยสาว ๆ ที่อาจจะตกไข่ได้ทุกเดือน อายุมากขึ้น ไข่ตกบ้างไม่ตกบ้าง ก็เลยตั้งครรภ์ยากเป็นธรรมดา

หากว่าตั้งครรภ์แล้ว หนทางก็ไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว ยังมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น ได้แก่โอกาสแท้งบุตรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรังไข่เมื่ออายุมากขึ้น ไข่ก็มีโอกาสที่จะมีโครโมโซมที่ผิดปกติมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติได้มากกว่า เมื่อโครโมโซมผิดปกติ กลไกทางธรรมชาติส่วนใหญ่ก็จะทำให้เกิดการแท้งตามมา หากไม่แท้ง ทารกที่เกิดมาโดยโครโมโซมผิดปกติ ก็จะมีความผิดปกติ เช่น กลุ่มอาการดาวน์ ดังนั้น ในสตรีตั้งครรภ์ที่อายุมาก หมอจึงแนะนำให้มีการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด เช่น การเจาะน้ำคร่ำ

นอกจากภาวะแท้งบุตร สตรีตั้งครรภ์ที่อายุมากมีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้อีกด้วย อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์แฝด อย่าค่ะ อย่าเพิ่งดีใจว่าเด็กแฝดน่ารัก คุ้มจริง ๆ ท้องทีเดียวได้ลูก 2 การตั้งครรภ์แฝดมีความ “เสี่ยง” ของการคลอดก่อนกำหนด การแท้ง การตายคลอด เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ สารพัดจะเสี่ยงเลยใช่ไหมคะ

นอกจากนี้ การตั้งครรภ์ในสตรีอายุมาก ยังเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อีกด้วย เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงต่อการต้องผ่าตัดคลอด อ่านมาถึงตรงนี้ สตรีที่อายุเลย 35 ปีไปแล้ว อาจจะถอดใจได้

ความเสี่ยงที่ว่ามาเยอะก็จริงค่ะ แต่การฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ การฝากครรภ์ที่สม่ำเสมอ

อาจไม่ได้ “กำจัด” ความเสี่ยงที่ว่ามาได้ก็จริง แต่ทำให้แพทย์และคุณแม่สามารถ “จัดการ” กับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วค่ะ

รอบ้าน รอรถ รอหน้าที่การงาน แล้วค่อยรอมีลูก อย่าลืมนึกถึงร่างกายเราด้วยนะคะ ว่าร่างกายเราพร้อมที่จะรอด้วยรึเปล่า

สวัสดีค่ะ

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X