วิพากษ์′พิมพ์เขียวรธน.′ ′กำหนดกรอบ-กีดกัน′
2014-10-26 16:20:02
Advertisement
คลิก!!!

จาตุรนต์ ฉายแสง, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ, ธิดา ถาวรเศรษฐ, สุริยะใส กตะศิลา

หมายเหตุ - ความเห็นฝ่ายการเมืองและแกนนำกลุ่มมวลชนเกี่ยวกับการดึงคนนอกเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังเกิดข้อท้วงติงว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเนื้อหาที่ครอบคลุมไม่รอบด้าน กีดกันคนบ้างส่วน และต้องการขจัดกลุ่มการเมืองบางฝ่ายออกไป 


จาตุรนต์ ฉายแสง
สมาชิกพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


จากกระแสที่ทางสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)จะมีการเสนอให้สัดส่วนกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถมาจากคนนอกได้ 5 ท่าน การนำคนนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่าง จะเป็นคนนอกหรือคนในก็ไม่ต่างกันมาก เพราะว่าสุดท้ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นคนเลือกและตัดสินใจว่าในที่สุดจะกำหนดใคร ส่วนเนื้อหาต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ คสช.ตัดสินใจจากคำแนะของเนติบริกรอยู่ดี ดังนั้นเป็นคนในหรือนอกก็ไม่ต่าง

ส่วนเรื่องที่เป็นห่วงว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองจะเข้ามาเป็นกมธ.ยกร่างฯดูแล้วก็ไม่เห็นว่านักการเมืองจะมาได้จากตรงไหน เพราะพรรคการเมืองหลักไม่ต้องการส่งคนมาเป็นอยู่แล้ว ด้านนักการเมืองหรือบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองก็เป็นไม่ได้ และพรรคเพื่อไทยยืนยันไม่ส่งคนเข้าร่วมองค์กรต่างๆ ที่เกิดจาก คสช.

ปัญหาน่าห่วงตอนนี้คือ การออกแบบรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร อย่างที่มีการกำหนดแนวทางร่างรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตรงนั้นค่อนข้างมุ่งกีดกันคนบางส่วน โดยข้ออ้างการทุจริตและคอร์รัปชั่นและบรรยากาศหลายเดือนที่ผ่านมา การพูดถึงเรื่องต่างๆ ยังหนีไม่พ้นการขจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกจากการเมืองไป แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ต้องการลดบทบาทพรรคการเมือง นักการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคู่ระบบ ฉะนั้นน่าเป็นห่วงร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาอาจแยกไม่ได้ เพราะมีส่วนคล้ายรัฐธรรมนูญปี 50 อย่างรัฐธรรมนูญปี 50 ที่บอกว่าสามารถแก้ได้ แต่ต่อมาปฏิบัติ มีผลเป็นว่าแก้อะไรไม่ได้ ในที่สุดก็นำมาสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ ส่วนที่จะร่างรัฐธรรมนูญมีแนวตั้งแต่ต้นห้ามแก้รัฐธรรมนูญ เหมือนทำไปทั้งที่รู้กำลังเดินไปเจออะไร 

"คนที่จะมาเป็น กมธ.ยกร่างฯ คนนอกคนในไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ ถ้ามีรัฐธรรมนูญนี้ หากร่างโดยไม่มีความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยและไม่ยอมรับอำนาจประชาชน ไม่เชื่อเรื่องการเลือกตั้ง จะร่างอย่างไรให้สามารถแก้ความขัดแย้งประเทศในวันนี้ได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรสนใจประเด็นเล็กน้อย 5 คนจะเป็นใคร"


นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วเสนอต่อ สปช.เพื่อพิจารณา และตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในมาตรา 35 คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมทั้ง 10 เรื่อง ซึ่งเป็นกรอบที่จะต้องมีในไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนข้อสุดท้ายระบุว่าอื่นๆ ถ้าคณะ กมธ.ยกร่างฯเห็นว่าอะไรที่มีความจำเป็น ก็ต้องถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน ในเบื้องต้นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญคิดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้วางกรอบเอาไว้แล้ว แม้บางเรื่องจะดูกว้างๆ เกินไปนั้นก็มองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

ส่วนปัญหาสมาชิก สปช.เสียงแตกในเรื่องสัดส่วน กมธ.ยกร่างฯของ สปช.ที่มีการเสนอให้มีสัดส่วนจาก สปช.15 คน และคนนอก 5 คนนั้น ส่วนตัวมองว่า การที่จะให้โควต้าคนนอก 5 คน และอาจเป็นตัวแทนพรรคการเมืองนั้น ผมว่านักการเมืองเขาไม่เข้ามาร่วมด้วยหรอก ถ้าเกิดนักการเมืองจะเข้าไปร่วมด้วยคงไปสมัครรับเลือกสรรหาเป็นสมาชิก สปช.ตั้งแต่แรกแล้ว ผมมองว่าการจะให้คนนอกที่อาจเป็นตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้เหมือนการเข้าไปเป็นผู้ช่วยของ สปช. ในอดีตพวกผมเป็นผู้แทนประชาชน แต่ถ้าต้องการความคิดเห็นหรือให้ไปร่วมแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปเพื่อประเทศ พวกผมยินดี แต่ถ้าให้เข้าไปร่วมเป็นสัดส่วนในการเป็น กมธ.ยกร่างฯคงไม่ไป

กรอบความคิดในการปฏิรูปประเทศนั้นต้องมีที่มาจาก คสช.อยู่แล้ว แต่ คสช.คงต้องมีการมอบการบ้านให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ 1 ซึ่งเป็นตัวเต็งในการนั่งเป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯอยู่แล้ว เชื่อว่าทั้ง 2 ท่านก็ต้องทำการบ้านที่ คสช.ให้มา

"การกำหนดกรอบรัฐธรรมนูญในอนาคตนั้น มีสิ่งที่หลายคนพูดออกมา แต่สิ่งที่ผมมองว่ามันคงเป็นไปไม่ได้เลยคือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น เรื่องนี้ สปช.หลายคนตั้งธงพูดมาจากบ้านเลย แต่ผมเชื่อว่า เรื่องนี้ คสช.คงไม่ยกร่างฯให้เป็นแบบนั้นแน่นอน สิ่งที่ผมฟันธงว่าจะทำได้คือ 1.ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง 2.นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. 3.ระบบเขตเลือกตั้งอาจจะถูกจะเปลี่ยน แต่เรื่องบัญชีรายชื่อผมว่ายังก่ำกึ่งว่าจะมีต่อไปหรือไม่ เพราะยังไม่รู้ว่า คสช.จะเอา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไว้หรือไม่ และเรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก และ 4.องค์กรอิสระ เชื่อว่าบางองค์กรต้องถูกยุบหรือรูปแบบอาจจะต้องเปลี่ยนไป" 


ธิดา ถาวรเศรษฐ
ประธานที่ปรึกษา นปช.

กรณีหากจะมีการเชิญ นปช.ไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตามมติของ นปช.เราจะไปร่วมในเวทีที่จัดกันเป็นระบบและแสดงความคิดเห็นในเวทีที่ไม่เป็นทางการ ในเรื่องทิศทางประเทศไทย การเมือง เศรษฐกิจและสังคม นปช.จะทำในส่วนของการหาข้อมูลและวิเคราะห์ตามความเป็นจริง เพื่อให้มีเหตุมีผล ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการและบนพื้นฐานของความเป็นจริง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ 

สำหรับกรอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่แค่แคบไปแต่มันไม่ถูกเลยคุณตั้งโจทย์ว่าต้องการกำจัดหรือกีดกันสิ่งที่เรียกว่าทุนนิยมสามานย์หรือครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือระบบทุนนิยม แต่คุณไม่ได้ทำอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง 

ถ้าจะปฏิรูปประเทศไทย โดยไม่รู้ว่าความจริงประเทศไทยเป็นอย่างไร เท่ากับว่าคุณทำตามที่คุณอยากทำ ไม่ได้เริ่มต้นจากความเป็นจริง ถ้าดูทิศทางประเทศไทยย้อนหลังต้องเริ่มต้นจากปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำและปัญหาแรงงาน ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาเราก็ยินดีจะเสนอในวงนอก ถ้าเขาไม่ฟังก็แล้วไป 

ที่แล้วมาเราก็พยายามจะเสนอแนวทางการปฏิรูปการเมือง แต่ถ้าดูสิ่งที่เขาเสนอไว้ก่อนเป็นต้นแบบในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เราก็รู้สึกว่าน่าเป็นห่วงว่า รัฐบาลนี้กับ คสช.เตรียมการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองและการเขียนรัฐธรรมนูญนั้น เขาตั้งโจทย์ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ เพราะความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญ 2-3 ฉบับที่ผ่านมาเป็นความล้มเหลวที่เกิดคณะรัฐประหาร หรือชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมตั้งโจทย์ผิด คิดจะแก้ปัญหาแต่กลายเป็นสร้างปัญหาขึ้นมาตลอด 

รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งก็สร้างปัญหาหนึ่ง อีกฉบับหนึ่งก็สร้างปัญหาอีกแบบหนึ่ง ดังที่ใช้คำว่าเสียของ ซึ่งความเป็นจริงก็ไม่ควรให้เสียของ ถ้าเข้าใจความเป็นไปของประเทศ แล้วอย่าตั้งโจทย์เอง ทำรัฐประหารใหม่เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แล้วรู้ความเป็นไปประเทศไทยแล้วหรือยัง ซึ่งปรากฏให้เห็นในรัฐธรรมนูญเก่า

ไม่เชื่อว่าคนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะแก้ปัญหาประเทศไทยได้ รู้ว่าเป็นการสร้างปัญหาใหม่จะทำทำไม สิ่งที่คุณควรทำคือ จะทำตามความปรารถนาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ ควรจะทำตามความปรารถนาของคนทั้งประเทศในทิศทางที่ชอบธรรมและก้าวไปข้างหน้า

"หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้สำเร็จออกมาต้องถามว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่อาจจะสร้างปัญหาและความขัดแย้งที่อาจจะรุนแรงกว่ารอบเก่าก็ได้" 


สุริยะใส กตะศิลา
ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)

ถ้าย้อนไปดูรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2540 และ 2550 คล้ายกันอยู่อย่างคือ พยายามสร้างสมดุลทางการเมือง ออกแบบกลไกองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบ ในขณะเดียวกันก็เริ่มให้พื้นที่กับการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น แต่จุดจบของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ มีชะตากรรมเดียวกันคือถูกฉีกทิ้ง ไม่บรรลุเจตนารมณ์ตามที่ออกแบบไว้

เหตุผลสำคัญของวิกฤตการเมืองกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราฝากความหวังไว้กับรัฐธรรมนูญมากไป เอารัฐธรรมนูญเป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยมากเกินไป ไม่มองในบริบทอื่น โดยเฉพาะส่วนของการเมืองนอกสภาหรือการเมืองภาคประชาชนช่วงที่ผ่านมาเข้มข้นมาก คนตื่นตัวมหาศาล ไม่นับเฉพาะกรณีเสื้อสี อย่างการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ และเรียกร้องการมีส่วนร่วม ความเป็นธรรมสูงมากขึ้นกว่าเดิม

จากเดิมเรียกร้องการมีส่วนร่วม ตอนนี้ดูเหมือนยกระดับไปถึงความต้องการเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจหรือการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องตอบโจทย์นี้ หรือที่เรียกกันว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องมีความคืบหน้ากว่าเดิม

"อย่ามองปัญหาการเมืองแค่ปรากฏการณ์ในรัฐธรรมนูญเท่านั้นต้องทำความเข้าใจปัญหาที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญด้วยเช่น ทัศนคติของภาครัฐต่อประชาชน หรือวิธีคิดแบบนักเลือกตั้ง หรือวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่เริ่มกลับมาเป็นประเด็นท้าทายใหม่"





ที่มา
มติชนรายวัน
วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 37 ฉบับที่ 13377


ที่มา  มติชนออนไลน์

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X