มิติใหม่จัดระเบียบขอทาน "คัดแยก - ฟื้นฟู"
2014-10-21 20:35:43
Advertisement
Pyramid Game

ที่มา นสพ.มติชน

เนื้อแท้ของคนไทยชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือ ชอบให้ ชอบทำบุญทำทาน เหล่านี้เป็นแรงผลักดันหนึ่งให้ "ปัญหาขอทาน" ไม่หมดไป 

ความ เวทนาที่ขายได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อเกิดเป็นอาชีพ เป็นขบวนการขอทานทั้งคนในและนอกประเทศ สร้างรายได้มหาศาลให้กับคนบางกลุ่ม ขณะเดียวกันสร้างความรำคาญให้สังคม และทำลายภาพลักษณ์ประเทศ ร้องเรียนกันมากจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องพูดทิ้งท้ายในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปแก้ไขให้ได้โดยเร็วทั้งระบบ

ไม่นาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ประกาศแนวทางปฏิบัติการจัดระเบียบบุคคลขอทานไทยและต่างด้าว เริ่มด้วยการจัดชุดปฏิบัติการร่วมระหว่างตำรวจ เทศกิจกรุงเทพมหานคร (กทม.) นักสังคมจิตวิทยา แพทย์ และภาคเอ็นจีโอลงพื้นที่สำรวจกลุ่มเป้าหมาย ทั้งแหล่งธุรกิจ แหล่งค้าขาย หรือในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนและเงิน 

โดย หากพบลักษณะ "บุคคลใดทำการขอทาน การขอทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิได้ทำการงานอย่างใด หรือให้ทรัพย์สิน สิ่งใดตอบแทน และมิใช่เป็นการขอกันในฐานญาติมิตรนั้น" ก็ให้ถือเป็นขอทานเชิงประจักษ์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 

จาก นั้นเชิญมาบ้านมิตรไมตรีเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองต่อไป โดยสำหรับการคัดกรองจะแบ่งเป็นคนไทยและต่างด้าว หากเป็นคนไทยจะส่งเข้าสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง เพื่อให้การอุปการะ ให้การศึกษา จัดหางาน คุ้มครองสวัสดิการ



ส่วน ขอทานต่างด้าวจะส่งกลับประเทศ เว้นแต่แม่และเด็กที่จะส่งสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งก่อน ในการคัดกรองยิ่งกว่านั้น หากพบว่าป่วยจะส่งให้โรงพยาบาลรักษาทันที เช่นเดียวกับหากพบเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ก็เข้าสู่การคุ้มครอง บำบัด ฟื้นฟู และพัฒนา

นายอนุสันต์ เทียนทอง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. เผยว่า เราได้ดำเนินการจัดระเบียบขอทานใน 7 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม จากนั้นจะขยายผลต่อไปยังภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเน้นหนักไปที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ร่วมกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัด (พมจ.) อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อดุลย์ได้สั่งการเพิ่มเติมให้มีชุดสืบสวนที่ลงไปตรวจตา หรือสืบหาข้อมูลแหล่งที่พักคนขอทาน โดยเฉพาะคนต่างด้าวที่มาขอทาน ฉะนั้น พม.จะประสานใกล้ชิดกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองว่าขอทานนั้นเป็นการค้า มนุษย์หรือไม่ เพื่อขยายผลให้เป็นรูปธรรม

"การทำงานครั้งนี้เป็นการ ทำงานร่วมกัน ทุกกระบวนการมีเอ็นจีโอร่วมด้วย ทั้งหมดเพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาย้อนกลับไปเหมือนเก่าว่า ผลักดันออกไปสุดท้ายก็กลับเข้ามา แต่เราอยากขยายผลในลักษณะขบวนการค้ามนุษย์ก็จะละเอียดขึ้น เป็นลักษณะไม่ได้ทำเฉพาะหน้า แต่ว่าเราอยากจะเจาะลึกลงไป" นายอนุสันต์กล่าว 

นับเป็นการทำงานมิติใหม่ในเชิงบูรณาการ อย่างไรก็ตาม ก็มีคำแนะนำจากกลุ่มเอ็นจีโอสังเกตการณ์ 

นาย ธนะรัตน์ ธาราภรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่มาร่วมสังเกตการณ์ กล่าวว่า พม.และทีมต้องมีกระบวนการเข้าไปหาคนขอทานที่เป็นมิตรมากกว่านี้ ไม่ใช่พาคนในเครื่องแบบไปรุมล้อมเขาจนรู้สึกเครียดและกลัว เพราะบางทีเขาอาจตัดสินใจกระโดดลงจากสะพานลอยเพื่อหนีก็ได้ ฉะนั้นต้องเข้าไปอย่างเป็นมิตร ไปทำความเข้าใจ ขอไม่ให้เขาทำลายภาพลักษณ์ประเทศ 

"จริงๆ ปัญหานี้ไม่เห็นต้องรอรัฐมนตรีคนใหม่มอบนโยบายเลย เป็นสิ่งที่ข้าราชการประจำควรทำอยู่แล้ว ขณะที่การแก้ปัญหา พม.ต้องไม่ทำแบบเดิมๆ คือ จับ คัดกรอง ส่งกลับภูมิลำเนา ส่งสถานสงเคราะห์แล้วก็จบ สุดท้ายได้แค่ภาพ แต่ควรต้องสร้างทางเลือกทำอย่างไรให้เขามีอาชีพ มีรายได้ มีการศึกษา เพื่อไม่ให้กลับมาสู่วงจรขอทานอีก เพราะหากปล่อยให้เรื้อรังถึงเปิดประชาคมอาเซียน ปัญหาจะหนักกว่านี้มาก" นายธนะรัตน์กล่าว 

นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เผยว่า ปฏิบัติการนี้เป็นการซ้อมใหญ่ของ พม. โดยเฉพาะการแยกแยะเคสและทำงานร่วมกันหลายฝ่าย อย่างการแยกแยะต้องเข้าใจว่า ขอทานไม่ใช่วณิพก ไม่ใช่คนเร่ร่อน คนขอทานเชิงประจักษ์คือคนที่มีอุปกรณ์ เช่น ขัน กระบอก มาตั้งขอเงินเฉยๆ ส่วนกรณีตั้งขัน กระบอก แล้วเล่นดนตรี การแสดง หรือผู้สูงอายุขายลูกอม ไม่ถือเป็นขอทาน 

"การจับขอทานใน วันนี้อาจได้เพียงปลายน้ำ ไม่ใช่ต้นตอ แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นการทำงาน การสังเกตการณ์ การสะกดรอยตามที่มาของขอทาน เพื่อสืบสาวที่มาและเก็บเป็นข้อมูล" 

ด้วยทำงานคลุกคลีกับ "ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ" เล่าข้อมูลลึกถึงพฤติกรรมของ "ขบวนการขอทาน" ว่า

"หาก รมว. พม.จะแก้ปัญหานี้ ก็ต้องรู้ว่าขอทานเป็นอย่างไร อย่างขบวนการขอทานจีน เขาศึกษาพฤติกรรมคนไทยก่อนว่าชอบทำบุญ แรกๆ ก็ส่งเป็นนักบวชจีนมา เมื่อรู้อีกว่าคนไทยชอบทำทานก็ส่งคนพิการมาอีก"

อีกหนึ่งข้อมูลที่หลายคนไม่เคยรู้ 

"ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงคนขอทานแยกย้ายจากเมืองใหญ่ๆ ไปขอทานตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะมีงานบุญใหญ่หลายงาน อาทิ ออกพรรษา ลอยกระทง ทอดผ้าป่า ปีใหม่ และจะกลับสู่เมืองช่วงเดือนเมษายนและช่วงใกล้ๆ เปิดภาคการศึกษา"

"ขอทานถือเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี ผมยังเคยปลอมตัวเป็นขอทานไปนั่งหลับประมาณ 1 ชั่วโมง ที่สะพานลอยหน้าห้างดังแถวรังสิตที่มีคนเดินพลุกพล่าน ตอนนั้นแต่งตัวซอมซ่อ ใส่วิกผมทรงยุ่งๆ ตื่นมาพบว่าได้เงินมาประมาณ 2,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมาก เงินที่ได้มาก็นำไปบริจาค ถือว่าซื้อวิชา จึงอยากให้ รมว. พม.แก้ปัญหาอย่างสังเกตและเข้าใจ" 

นายนทีทิ้งท้ายว่า ก็หวังว่าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.... ที่ขณะนี้ผ่านวาระ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว จะสามารถประกาศใช้ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อเข้ามาจัดระบบการดูแลคนด้อยโอกาสใหม่ โดยมี รมว.พม.เป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง รวมถึงกำหนดมาตรฐานมาคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งต่อไป

 


ที่มา  ข่าวสดออนไลน์

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X