การเดบิวท์ของ Wanna One กับข้อถกเถียงเรื่องการละเมิดสิทธิทางการค้าไอดอลของสถานีโทรทัศน์
2017-08-16 11:43:02
Advertisement
คลิก!!!

'Wanna One' วงที่มาจากรายการเซอร์ไวเวอร์ไอดอล 'Produce 101' Season 2 ทางช่อง Mnet ได้โชว์การแสดงเดบิวท์ต่อหน้าผู้ชม 20,000 คน ที่ Gocheok Sky Dome กรุงโซล ในวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง 'Wanna One' เป็นวงไอดอลหน้าใหม่วงแรกที่ได้ขึ้นโชว์การแสดงเดบิวท์ที่ Gocheok Sky Dome ส่วนมินิอัลบั้มชุดแรกที่เปิดตัวในวันเดียวกัน ก็มียอดสั่งซื้อล่วงหน้า 500,000 ชุด และเพลงไตเติ้ล 'Enerygetic' ก็ครองอันดับ 1 ชาร์ตเพลงสำคัญต่างๆ ทั้ง Melon, Genie, Naver Music, Bugs นับเป็นการเดบิวท์ที่ประสบความสำเร็จมากจนยากที่จะหากรณีที่คล้ายคลึงกัน แต่เบื้องหลังความสำเร็จที่สวยงามนี้ ก็มีความกังวลและกลัดกลุ้มของวงการธุรกิจที่เกี่ยวข้องซ่อนอยู่

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม อ้างอิงจาก Korea Management Federation, Korea Entertainment Producer's Association และ Korea Music Content Industry Association ทั้ง 3 สมาคมได้ส่งหนังสือราชการถึง Terrestrial Television, Cable และ Generalist Channel ระบุถึงความกังวลเรื่องการควบรวม จากการจัดทำรายการฝึกฝนไอดอลของสถานีโทรทัศน์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เกี่ยวข้องจากบริษัท Entertainment แห่งหนึ่งได้เปิดเผยว่า "ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ได้สร้างนักร้องหรือวงใหม่ๆ ขึ้นมาจากรายการออดิชั่นต่างๆ และมีการจำหน่ายอัลบั้มในระดับหนึ่งเป็นปกติ แต่สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นสถานการณ์ที่คุกคามระบบนิเวศน์การผลิตเพลง" และกล่าวต่อว่า "ปัญหาใหญ่ก็คือการดูแลกระทั่งการบริหารจัดการของเหล่านักร้องที่เดบิวท์จากรายการ" ด้วยเหตุนี้ จากการที่สถานีโทรทัศน์ทำแม้กระทั่งหน้าที่ของบริษัทวางแผนเหมือนอย่าง SM หรือ YG ควบคู่ไปด้วย ทำให้เกิดการสั่นคลอนพื้นฐานการมีชีวิตอยู่ของบริษัทวางแผนขนาดย่อย

ปัจจุบัน YMC Entertainment รับหน้าที่บริหารจัดการ 'Wanna One' เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน หลังจากนี้ สมาชิกแต่ละคนก็จะแยกย้ายกลับไปทำกิจกรรมในสังกัดของแต่ละคน ปัญหาก็คือ MMO Entertainment ต้นสังกัดของคังแดเนียล สมาชิกคนสำคัญของ Wanna One เป็นบริษัทลูกของ CJ E&M ซึ่งทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ยอมรับข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า จากความสำเร็จของ I.O.I เมื่อปีที่แล้ว และ Wanna One ในปีนี้ CJ ได้ขยายธุรกิจมาจนถึงขอบเขตของการบริหารจัดการในการเตรียมโชว์เดบิวท์นักร้องหน้าใหม่ ปัจจุบัน นอกจาก CJ จะมีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งอย่าง TV Channel เช่น Mnet, tvN, OCN แล้ว ก็ยังจัดทำอัลบั้มและจัดจำหน่ายอีกด้วย ซึ่งถ้า CJ ก้าวออกมาสู่การบริหารจัดการผ่านทางบริษัทลูก ก็จะเกิดการควบรวมของอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในสถานการณ์ของบริษัทวางแผนขนาดย่อยมากมายที่ส่งนักร้องหน้าใหม่ออกมาเดบิวท์และต้องทำให้ดัง เท่ากับว่าจะไม่สามารถแข่งขันกับนักร้องที่สถานีโทรทัศน์ปั้นขึ้นมาได้เลย

จริงๆ แล้ว CJ E&M ได้ทำสัญญาในสังกัดบริหารจัดการกับผู้ร่วมรายการ 'Idol School' ตั้งแต่เนิ่นๆ จนเกิดข้อถกเถียงขึ้น ซึ่งทาง CJ ก็ได้ออกมาเปิดเผยแถลงการณ์ว่า "เนื่องจากผู้เข้าร่วมรายการ 'Idol School' เป็นคนธรรมดาทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีการดูแล จึงได้ทำสัญญาบริหารจัดการเท่านั้น หลังจากมีการคัดเลือกรอบสุดท้ายแล้ว บริษัทวางแผนอื่นจะเป็นผู้รับผิดชอบ" แต่วงการธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ไม่ยอมรับเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

กรณีของ Wanna One รายได้ที่ได้รับจากการทำกิจกรรม Mnet, YMC ที่รับหน้าที่บริหารจัดการ, ผู้เข้าร่วมรายการ, ต้นสังกัด จะแบ่งกันฝั่งละ 25% แต่จากโครงสร้างที่สถานีโทรทัศน์รับหน้าที่บริหารจัดการด้วย หากแบ่งสัดส่วนรายได้ ก็เท่ากับว่าจะได้ไปถึง 75% โดย I.O.I ที่เดบิวท์จากรายการ 'Produce 101' เมื่อปีที่แล้ว ทำรายได้มากกว่า 10,000 ล้านวอน จึงคาดว่า Wanna One ที่กำลังครองตลาดเพลง, การแสดง และโฆษณา จะทำรายได้สูงกว่า I.O.I ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจากบริษัทวางแผนขนาดย่อยแห่งหนึ่งได้ระบายความขุ่นเคืองใจว่า "ถ้าสถานีโทรทัศน์คัดเลือกไม้ตั้งแต่เนิ่นๆ เหมือนบริษัทวางแผนทั่วไป และทำสัญญาในสังกัด พร้อมกับส่งออกมาเดบิวท์และทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีอิทธิพลมหาศาลเป็นพื้นฐานล่ะก็ คงไม่มีบริษัทไหนอยู่รอดนอกจากบริษัทวางแผนขนาดใหญ่อย่าง SM หรือ YG"

ปัญหาก็คือ รูปแบบนี้กำลังแพร่กระจายไปยังสถานีโทรทัศน์อื่นด้วย โดย KBS ตั้งใจจะออกอากาศรายการ 'The Unit' โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะมอบโอกาสให้กับ 'อดีตไอดอลที่เดบิวท์ หรือไอดอลปัจจุบัน' ในการแสดงความสามารถ ส่วน MBC ก็จะวางแผนรายการฝึกฝนไอดอลเช่นกัน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจากธุรกิจหนึ่งได้กล่าวว่า "ถึงช่องเคเบิลจะออกอากาศรายการในเชิงการค้า แต่ถ้าแม้กระทั่ง KBS ก็จะทำธุรกิจบริหารจัดการไอดอลด้วย ก็จะเป็นปัญหาได้"

ก่อนหน้านี้ สถานีโทรทัศน์ต่างๆ เคยจัดจำหน่ายเพลงของผู้ร่วมรายการออดิชั่น, แข่งขันต่างๆ ที่ได้รับการแนะนำจากการออกอากาศในตลาดเพลง เช่น 'I Am a Singer'(MBC), 'Immortal Songs'(KBS2), 'Superstar K'(Mnet) เป็นต้น ซึ่งก็มีผู้ที่มองเรื่องนี้ว่าเป็น "รากฐานของปรากฏการณ์ขยายอำนาจในวงการบันเทิงของสถานีโทรทัศน์" ซึ่งรายการเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป มีรายการฝึกฝนไอดอลออกมา สุดท้าย ก็อาจจะนำไปสู่การขยายขอบเขตของสถานีโทรทัศน์มาจนถึงการบริหารจัดการไอดอล

ในมุมหนึ่งของสถานีโทรทัศน์ก็มีเสียงโต้แย้งออกมาเช่นกันว่า นี่ก็ไม่ต่างกับการที่บริษัทวางแผนขนาดใหญ่ได้ว่าจ้างเหล่า PD จากสถานีโทรทัศน์ไปทำคอนเทนท์ของตนเอง ซึ่งรายการ 'Who Is Next?', 'Mix & Match' ที่ YG จัดทำขึ้นและออกอากาศทางช่อง Mnet ก็เป็นรากฐานในการเดบิวท์ WINNER และ IKON อย่างประสบความสำเร็จ ส่วน JYP ก็สามารถเดบิวท์ TWICE และปั้นเป็นดาราได้จากรายการ 'Sixteen' ในเวลาเดียวกัน

เรื่องรายการฝึกฝนไอดอลนั้น มีความเห็นที่บอกว่าควรคำนึงถึงสถานการณ์ของแฟนคลับหรือผู้ชมด้วย ซึ่งพัคจินคยู อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยหญิงโซล กล่าวว่า "บริษัทวางแผนทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อยต่างก็นำเสนอวงไอดอลในรูปแบบคล้ายคลึงกัน จึงอาจจะทำให้ผู้ชมต้องการรูปแบบการเดบิวท์ไอดอลใหม่ๆ ได้" และ "แต่ถ้าหากสถานีโทรทัศน์ทำวงไอดอลในรูปแบบเดียวกันกับที่มีอยู่แล้ว นั่นจะเป็นการซ้ำรอยปัญหาเดิมมากกว่าการเปลี่ยนแปลง"

ที่มา : Kyunghyang Shinmun
แปลโดย : http://www.popcornfor2.com

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X