Sweeteners...หวานเลือกได้
2014-10-25 18:45:24
Advertisement
คลิก!!!

โดยเฉพาะกับสาวยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารที่ให้แคลอรี่ต่ำ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารหวานต่างๆ แต่การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสหวานก็ดูเหมือนจะลำบาก ขาดสุนทรีย์ของการกินว่างั้นเถอะ ลองนึกดู...หากอยากทานน้ำแข็งใสเจ้าเก่าหน้าปากซอย ไอศกรีมสักสกู๊ป หรือดื่มน้ำอัดลมเย็นๆ สักกระป๋องเพื่อดับร้อน แต่จืดชืดไร้ความหวานก็ดูจะเหมือนชีวิตมันมีอะไรขาดหายไป ฉะนั้นการใช้สารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำทดแทนการใช้น้ำตาลทรายหรือซูโครส ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ยังพิสมัยในรสหวานของอาหารอยู่

พูดถึงสารให้ความหวานที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาทดแทน อาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
Nutritive Sweeteners ซึ่งเป็นสารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (ให้พลังงาน) ซึ่งได้แก่ กลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohols) เช่น แมนนิทอล (Mannitol) ซอร์บิตอล (Sorbitol) และ ไซลิทอล (Xylitol) เป็นต้น สารกลุ่มนี้จะมีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลซูโครส โดย 1 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 2-3 แคลอรี่ ในขณะที่น้ำตาลซูโครสให้พลังงาน 4 แคลอรี่ การดูดซึมสารกลุ่มนี้ในร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำให้ส่วนใหญ่ถูกขับถ่ายออกจากร่างกายก่อนที่จะดูดซึมเข้าไปใช้ประโยชน์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พวกน้ำตาลแอลกอฮอล์เป็นสารให้ความหวาน เช่น หมากฝรั่ง ลูกอม เราอาจจะคุ้นเคยชื่อของไซลิทอลในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซี่งให้ความหวานและความอร่อยใกล้เคียงกับน้ำตาลซูโครส และมีข้อดีในการช่วยลดการเกิดฟันผุเนื่องจากแบคทีเรียไม่สามารถย่อยสลายสารให้ความหวานชนิดนี้ได้ หรือในเครื่องดื่มบางชนิดที่ระบุว่า “ไม่มีน้ำตาล” หรือ “Sugar Free” ก็มีการใช้พวกซอร์บิตอลเป็นสารให้ความหวาน ซึ่งคนมักจะเข้าใจผิดว่าไม่มีแคลอรี่

ส่วนสารให้ความหวานอีกกลุ่มหนึ่งคือ Non-nutritive Sweeteners ซึ่งไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (ไม่ให้พลังงาน) ซึ่งมีความหวานมากกว่าน้ำตาลซูโครสหลายเท่า ตัวอย่างของสารให้ความหวานพวกนี้ได้แก่ แซคคาริน (Saccharin) อะซิซัลเฟม เค (Acesulfame-K) ซูคราโลส (Sucralose) ซัยคลาเมต (Cyclamate) และ แอสปาร์เทม (Aspartame) เป็นต้น ซึ่งสารให้ความหวานกลุ่มนี้เองมีความสำคัญในแง่ของการนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพ สำหรับผู้ที่ต้องการลดหรือจำกัดแคลอรี่ที่ได้จากอาหาร เช่น แซคคาริน มีความหวานมากกว่า น้ำตาลซูโครสประมาณ 300 เท่า ทำให้ปริมาณที่ใช้น้อยเพื่อให้เกิดความหวานที่ต้องการ โดยที่ไม่ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณแคลอรี่ในอาหาร อย่างไรก็ดี การใช้สารให้ความหวานเหล่านี้มักมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นรสหวานที่ต่างไปจากความหวานที่ได้จากน้ำตาลตามธรรมชาติ หรืออย่างแอสปาร์เทมนั้นไม่เหมาะกับอาหารที่ต้องผ่านความร้อน หรือกับผู้ป่วย “ฟีนิลคีโตนูเรีย” (Phenylketonuria – PKU) ซึ่งเป็นโรคเนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยผู้ป่วยโรคนี้ไม่สามารถใช้และกำจัดสารที่เป็นส่วนประกอบในแอสปาร์เทมได้เหมือนคนปกติ ทำให้เกิดการสะสมของสารบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อสมอง 

สารให้ความหวานมีมากมายหลายชนิด หากจำเป็นต้องใช้สารให้ความหวาน ควรมีการสลับเปลี่ยนชนิดของสารให้ความหวานและใช้แต่น้อย เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารให้ความหวานตัวใดตัวหนึ่งเป็นระยะเวลานาน เพียงเท่านี้เราทุกคนก็มีสุขภาพดีได้โดยไม่ต้องอดหวานอีกต่อไป เอาเป็นว่าหวานเลือกได้ก็แล้วกัน


ที่มา  http://siamdara.com/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X