Rookie Historian Goo Hae Ryung อาลักษณ์น้องใหม่ ไม่รับงาน N นะเจ้าคะ
2019-10-07 17:52:16
Advertisement
คลิก!!!

 

เคยสังเกตมั้ยคะว่านางเอกซีรีส์พีเรียดเกาหลียุคโชซอน เค้าปลอมตัวเป็นชายเพื่อจุดประสงค์ใดบ้าง คิมยุนฮี นางเอก Sungkyunkwan Scandal ปลอมเป็นชายเพื่อเข้าศึกษาโรงเรียนขงจื๊อ , ฮงราอน นางเอก Moonlight Drawn by Clouds ปลอมเป็นขันทีเพื่อรับใช้องค์รัชทายาท หรือแม้แต่ จิตรกร “ชินยุนบก” เจ้าของภาพวาด “미인도มีอินโด” (โมนาลิซ่าแห่งเกาหลี) ที่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ ก็ยังไม่วายถูกเม้าท์มอยว่า เป็นผู้หญิงปลอมตัวมา  นี่ยังไม่รวมถึงการปลอมตัวเป็นชายเล็กๆ น้อยๆ ประเภท ไปซื้อของที่ตลาด ไปเล่นพนันในบ่อน ฯลฯ 

Rookie Historian Goo Hae Ryung

 

ดูเผินๆ ก็เป็นสีสันที่น่ารักดี แต่มองจากต้นตอแล้ว เป็นเพราะแนวคิดขงจื๊อใหม่ (Neo Confucianism) ที่กดทับให้ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมน้อยมากๆ แล้วสังเกตมั้ยคะว่า ผู้หญิงเกาหลีแต่งงานแล้วไม่เปลี่ยนนามสกุลตามสามี ต่างจากประเทศอื่นที่ยึดระบอบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) เหมือนกัน แต่ผู้หญิงใช้นามสกุลสามีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ได้เข้ามาเป็น “สมบัติ” ของครอบครัว แต่แนวคิดขงจื๊อใหม่นั้น ผู้หญิงไม่มีค่าแม้แต่จะเป็น “สมบัติ” ผู้หญิงจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อ พวกเธอได้แต่งงานออกเรือน เป็นภรรยาที่อยู่ในโอวาทสามี และให้กำเนิดบุตรชายที่ประสบความสำเร็จ หากบกพร่องในหน้าที่ดังกล่าว ต่อให้ฉลาดเก่งกาจเพียงใด ก็ไม่นับว่าพวกนางเป็นบุคคลที่มี “คุณค่า” ซึ่งนั่นแหละค่ะ บท “นางเอกปลอมตัวเป็นชาย” ถูกสร้างมาเพื่อให้พวกเธอได้เข้าไปปฏิบัติภารกิจที่ “มิใช่ธุระของสตรี” ส่วนสตรีชั้นสูงยุคโชซอนจริงๆนะรึ? แค่เดินออกจากบ้านก็ต้องใช้ผ้า 장옷 ชังอด คลุมตั้งแต่หัวจรดเท้า เนื่องจากไม่ควรเปิดเผยร่างกายส่วนใดๆ ในที่สาธารณะ 

Rookie Historian Goo Hae Ryung

 

เมื่อสตรีในวัง หันมาเป็น Working Woman 
แม้จะรู้ในวงกว้างว่า เกาหลีใต้ในปัจจุบัน ก็ยังเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ แต่จากแคมเปญต่อต้านการคุกคามสตรี Me Too หรือผ่านร่างกฎหมายทำแท้งเสรี ก็นับเป็นนิมิตหมายอันดีว่าเกาหลีเริ่มจะเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มีที่ยืนบ้างแล้ว ผู้หญิงเกาหลีหลายคน ได้ทำงานตำแหน่งสูงๆ เช่นเดียวกันกับวงการซีรีส์ค่ะ เทรนด์ “ผู้หญิงในซีรีส์พีเรียด” เปลี่ยนจากนางสนมตบตีกัน หรือชีวิตรักรันทดต่างชนชั้น ที่เคยฮิตมากๆ เมื่อ 20-60 ปีก่อน แล้วเพิ่มบทบาท “สตรีในวังที่ทำงานมีคุณค่า” ให้เห็นบ่อยขึ้น เปิดศักราชด้วย “แดจังกึม” หมอหญิงที่เก่งทั้งปรุงยาและงานครัว , “ทงอี” จากประวัติสั้นๆ ที่ว่านางคือสนมที่ไต่เต้ามาจากหญิงหาบน้ำ ก็เพิ่มสีสันให้เป็นสาวฉลาด เชี่ยวชาญด้านสืบจากศพ หรือจะเป็น “จองอี” เทพธิดาแห่งเครื่องเผาเซรามิก เห็นมั้ยคะว่าพวกเธอต่างมีที่ยืนที่ “แตกต่าง” จากผู้หญิงในวังคนอื่นๆ ที่ทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาท เป็นต้นว่า นางในฝ่ายบริการ นางในฝ่ายห้องเครื่อง นางในถวายตัว (พูดแบบศัพท์สมัยใหม่ก็คือ พวกเธอทำงาน N มีตั้งแต่เลเวล N ธรรมดา เรื่อยไปจนถึง N VIP) นอกจากมีหน้าที่บริการ นางในทุกคนต้องตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ ความจำสั้น สิ่งใดที่รู้ที่เห็นในวัง ต้องลืมเสียให้หมด 

    แต่ก็นั่นแหละค่ะ เอาเข้าจริงก็จำเป็นต้องมีหมอหญิงแบบแดจังกึม เพราะหมอผู้ชายไม่สามารถแตะเนื้อต้องตัว “ผู้หญิงของพระราชา” ได้ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ตรวจร่างกายนักโทษประหารหญิง หากพบว่าพวกเธอตั้งครรภ์ ต้องชะลอการประหารออกไป , จำเป็นต้องมีหน่วยสืบสวนหญิงแบบทงอี เพราะเจ้าหน้าที่ชายไม่อาจเข้ามาในส่วนพระราชฐานชั้นในได้  สุดท้ายวังก็รับผู้หญิงเหล่านี้มาทำงานเพราะ “จำเป็นต้องใช้ผู้หญิง” จริงๆ แต่งานอะไรในวังที่ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงไม่มีวันได้เข้ามาทำหรอก เล่ามาเสียยาว เพราะจะเข้าเรื่องว่า ซีรีส์เรื่องนี้ นางเอกของเรารับบทเป็น “อาลักษณ์หลวง” ในวังโชซอนค่ะ ในยุคสมัยที่การเรียนหนังสือในสตรีเป็นเรื่องต้องห้าม งานเขียนของผู้หญิงเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ การที่ผู้หญิงสักคนจะเข้ามาเป็นอาลักษณ์หลวง จดบันทึกเรื่องราวในวัง เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาทีเดียว
 
“ชื่อนั้น สำคัญไฉน”
    ก่อนจะเข้าสู่รีวิวใดๆๆๆ ขอป่าวประกาศไว้ก่อนเลยค่ะว่า Rookie Historian Goo Hae Ryung เป็นซีรีส์โรแมนติกคอเมดี้ ที่ตลกและสดใสมากๆๆๆๆ มีนางเอกแก่นแก้วแสนซน มีพระเอกหล่อมากกกและตลกสุดๆ มีนักแสดงสมทบสายฮาเป็นส่วนใหญ่ มีตัวร้ายและฉากดราม่าน้อยมากจ้า แต่ชื่อไทยทำสับสน 555 เป็นความรู้สึกคล้ายๆ กับ ชอนจีฮยอน (จวนจีฮุน) ต้องมีคำว่า “ยัยตัวร้าย” ติดตัวมา ทั้งที่หลายเรื่องนางก็ไม่ได้ร้าย อันนี้ก็มาแนวเดียวกันเล้ยย ชื่อไทยของ Rookie Historian Goo Hae Ryung ที่ Netflix ตั้งให้ก็คื้อ!!! “กูแฮรยอง นารีจารึกโลก” เชื่อขนมอิฉันเถอะค่ะ ต้องมีบ้างแหละที่อ่านชื่อแล้วคิดว่านางเอกต้องเป็นอิสตรีที่สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ให้ประเทศชาติ พอเปิดดูแล้วเจอเนื้อเรื่องเบาๆ ก็บ่นเฟล ส่วนคนที่ชอบดูซีรีส์น่ารักกุ๊กกิ๊ก มาเห็นชื่อเรื่องแล้วกลัวเครียด เลยไม่ดูก็น่าจะมีเหมือนกัน T^T เสียดายค่ะเสียดาย จริงๆเรื่องนี้ถ้าแปลทีละตัวจากชื่อเกาหลี “ชินอิบซากวัน กูแฮรยอง” 신입사관 구해령 (신입 = เข้าใหม่ , 사관 = อาลักษณ์) ก็จะเห็นว่าน่าจะเป็นสตอรี่ใสๆ ของ อาลักษณ์น้องใหม่ กูแฮรยอง

Rookie Historian Goo Hae Ryung

 

    Rookie Historian Goo Hae Ryung คือเรื่องราวของ กูแฮรยอง สาว(ไม่)น้อย วัย 26 ปี ผู้หญิงโชซอนอายุเท่านี้ยังไม่แต่งงาน ถือว่าเทื้อคาเรือนนะคะ T^T เธออาศัยอยู่กับพี่ชายที่รับราชการ และเป็นหนอนหนังสือตัวยง โดยเฉพาะหนังสือแปลเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์จากฝั่งยุโรป แถมยังรับจ๊อบเป็นนักอ่านนิยาย เป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวบ้าน (อาชีพอ่านนิยายนี้มีจริงๆ ค่ะ เรียกว่า “พันโซรี” 판소리) แม้พี่ชายดูจะไม่เร่งรัดให้น้องสาวแต่งงาน สุดท้ายพิธีวิวาห์ก็เกิดขึ้นเพื่อลบเสียงครหาจากฝั่งชาวบ้าน แต่กูแฮรยองกลับหนีพิธีแต่งงานไปสอบเป็นอาลักษณ์หลวง

Rookie Historian Goo Hae Ryung


    มาที่พระเอกบ้าง ตามปกติถ้าดูซีรีส์พีเรียดที่มีบทเจ้าชาย สังเกตว่าจะเป็นรัชทายาททั้งนั้น นั่นก็เพราะผู้ชายที่สามารถผ่านเข้าพระราชฐานชั้นในได้ (ถ้าไม่นับขันที) ก็มีแค่ พระราชาและรัชทายาทเท่านั้นค่ะ ส่วนเจ้าชายองค์อื่นๆ เมื่ออายุสัก 10 ขวบต้นๆ ก็จะแต่งงานแล้วย้ายออกไปอยู่นอกวัง เพื่อป้องกันการแก่งแย่งชิงบัลลังก์กับรัชทายาทนั่นเอง แต่พระเอกของเรา องค์ชายอีริม โดวอน นั้นทรงเป็น “เจ้าชายเฉยๆ” แถมยังอาศัยอยู่ในวังไม่ได้แต่งงาน จนอายุ 20 ปี (แน่นอนว่ามีเหตุผลอยู่ในท้องเรื่อง) องค์ชายโดวอนถูกปล่อยให้อยู่ห่างๆ อย่างเปลี่ยวๆ ที่ตำหนักท้ายวังนามว่า “นกซอดัง” นอกจากทีมพระพี่เลี้ยง ก็แทบไม่มีใครในวังรู้ว่าพระพักตร์ที่แท้ของพระองค์ องค์ชายโดวอนก็เป็นหนอนหนังสือเช่นกันค่ะ แต่ฮีนิยมอ่านนิยายรักๆใคร่ๆ เป็นหลัก ไม่พอยังแอบเขียนนิยายรัก นามปากกา “แมฮวา” (ดอกบ๊วย) เป็น Best Seller ไปทั่วกรุงฮันยาง (เมืองหลวงโชซอน = กรุงโซลในปัจจุบัน) ใครๆก็ชอบงานเขียนของแมฮวา ยกเว้นกูแฮรยอง ที่บอกว่านิยายไร้สาระ

    กูแฮรยอง สอบผ่านเข้าไปเป็นอาลักษณ์หลวง พบกับเรื่องวุ่นๆ มากมาย ถูกซังกุงบังคับว่าผู้หญิงทุกคนในวังต้องอยู่ภายใต้กฎฝ่ายใน , ถูกแก๊งอาลักษณ์รุ่นพี่ที่เป็นชายล้วนรับน้องชุดใหญ่ แถมยังบุลลี่ว่า โรงเรียนการเรือนที่พวกเธอจบมา มีศักดิ์ศรีเทียบไม่ได้กับสถาบันขงจื๊ออันดับ 1 อย่างซองคยุนกวันของพวกเขา และอีกสารพัดสารเพที่เหล่าอาลักษณ์น้องใหม่ต้องเจอ และ กูแฮรยอง ก็ยังได้รู้ความจริงอีกอย่างว่า นักเขียนแมฮวา ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเธอ ที่แท้ก็คือ เจ้าชาย!!

 

ลูกผู้ชาย ลายมือนั้นคือยศ
    มองเผินๆ Rookie Historian Goo Hae Ryung อาจเป็นแค่ซีรีส์เบาสมอง แต่ถ้ามองในแง่คนสนใจประวัติศาสตร์ ซีรีส์เรื่องนี้ถือว่า ท้าทายชุดความเชื่อเก่าหลายอย่าง พระเจ้าเซจงมหาราช” ทรงประดิษฐ์อักษรเกาหลี (ฮันกึล한글) ตั้งเกือบ 600 ปีมาแล้วก็จริง แต่อักษรฮันกึลนั้น ถูก “บุลลี่” จากเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิตเรื่อยมาจนสิ้นสมัยโชซอน พวกบัณฑิตนั้นต่างเล่าเรียนอักษรจีน (ฮันจา한자) กันอย่างยากลำบาก จะมาปล่อยให้อักษรฮันกึลที่อ่านง่ายเขียนง่าย ทำให้ชาวบ้านมีความรู้เท่าเทียมกันได้อย่างไร ตำราขงจื๊อ ตลอดจนเอกสารราชการจึงถูกบันทึกด้วยอักษรฮันจา (อักษรจีน) ส่วนอักษรฮันกึลนั้นถูกขนานนามว่า “อักษรสตรี” เนื่องจากผู้หญิงโชซอนชอบแอบไปฝึก เพื่อเขียนอ่านนิยายประโลมโลกย์กัน บ้างก็เรียก “อักษรยามเช้า” เพราะจะดูถูกว่า ฝึกแค่ข้ามคืน พอรุ่งเช้าก็อ่านออกเขียนได้แล้ว

    ผู้ชายชั้นสูงในโชซอน พยายามทุกวิถีทางเพื่อสอบควากอ (จอหงวน) ให้ผ่าน เพื่อรักษาสถานะยังบัน (ชนชั้นสูง) เอาไว้ เพราะถ้าไม่ผ่านใน 3 รุ่น (พ่อไม่ผ่าน ลูกไม่ผ่าน หลานต้องผ่าน) ก็จะต้องกลับไปเป็นสามัญชน ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากอีกต่อไป ดังนั้นวันๆ พวกเขาก็จะคร่ำเคร่งอยู่กับตำราขงจื๊อ เครียดจนกระอักเลือดตายไปก็มี ถ้าจะแต่งหนังสือก็ต้องเป็นตำราเรียน ตัวหนังสือจีน ส่วนนิยายแนวรักๆ ใคร่ๆ สัปดี้สัปดนนั้นหรือ? คนแต่งล้วนเป็นผู้หญิงค่ะ!! ฮอตฮิตมากในหมู่นักอ่านกลุ่มคุณหนูแก่แดด และคุณนายอารมณ์เปลี่ยว (เพราะปั๋วเอาแต่อ่านตำรา) การที่ “แมฮวา” นักเขียนนิยายรัก Best Seller ถูกเปิดเผยว่าเป็นผู้ชาย จึงเป็นเรื่องที่ผิดผีมากๆ ในยุคนั้น  และไม่มีบัณฑิตคนไหนมองว่า นิยายเหล่านี้มีคุณค่าทางวรรณกรรม

    ผู้ชายแต่งนิยายยังเป็นเรื่องผิดผี แล้วผู้หญิงมาเป็นอาลักษณ์หลวง ยิ่งผิดผีมากขึ้นไปใหญ่เลยค่ะ ซึ่งถ้าว่าไปแล้วผู้หญิงโชซอนไม่มีโอกาสสอบเข้ารับราชการในวังแน่ๆ เพราะพวกเธอไม่รู้ตัวอักษรจีน แต่งานอาลักษณ์ ต้องบันทึกทุกอย่างด้วยอักษรจีนทั้งหมด ในซีรีส์ได้บิดความจริงเล็กน้อย โดยให้แก๊งสาวๆ อาลักษณ์น้องใหม่ รู้อักษรจีนทั้งหมด

 

พงศาวดารเกาหลี แม้แต่กษัตริย์ก็อ่านมิได้
    ใครที่ดู  Rookie Historian Goo Hae Ryung ก็จะเห็นบทอาลักษณ์หลวงยืนจดบันทึกยิกๆ ของจริงก็แบบนี้แหละค่ะ พวกเขาจดหมดทุกอย่าง เรื่องราวในการประชุม พิธีกรรม ตลอดไปจนถึงกิจวัตรประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ของพระราชา ราวกับเป็น CCTV ประจำวังก็ไม่ปาน และบางทีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่จดไว้นี่แหละ อาจเป็นหลักฐานให้คลี่คลายคดีบางอย่าง จำองค์ชายอีกัก Rooftop Prince ที่ทรงพระแพ้ปูได้มั้ยคะ? จริงๆแล้วซีรีส์เรื่องนั้นดัดแปลงมาจากประวัติบางส่วนของ พระเจ้าคยองจง (พระโอรสของพระเจ้าซุกจง กับสนมจางฮีบิน) พระองค์ครองราชย์ได้ไม่นานก็สวรรคต ในบันทึกของอาลักษณ์หลวง ระบุไว้ว่า พระองค์ทรงเสวย “กุ้งเน่า” ค่ะ แดจังกึมเองก็ปรากฏตัวนิดหน่อยในพงศาวดาร ออกมาถวายโอสถแก้ท้องผูกให้พระเจ้าชุงจงบ้าง ยาลดไข้บ้าง คล้าย Extra ประกอบฉาก แต่เพราะดูน่าสนใจเลยถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์เรื่องยาว แต่หลักๆแล้ว พงศาวดารเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของพระราชา

    เพราะบันทึกไว้ทุกอย่าง แม้แต่เรื่องจิปาถะอย่างนี้  จึงทำให้พงศาวดารโชซอน เป็นพงศาวดารที่มีความยาวมากที่สุดในโลกค่ะ (นับแยกเป็นราชวงศ์เดียว) โดยมีจำนวนมากถึง 1,893 ฉบับ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ ค.ศ. 1413 – 1865 คนเกาหลีเองก็สามารถหาพงศาวดารฉบับเต็มอ่านได้ในอินเตอร์เน็ต แล้วตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา เกาหลีก็เริ่มต้นเมกะโปรเจ็กต์ แปลพงศาวดารโชซอนเป็นฉบับภาษาอังกฤษ คาดว่าจะแปลแล้วเสร็จในปี 2033 ค่ะ

 

    อีกสาเหตุที่ทำให้พงศาวดารเกาหลีทรงพลังสุดๆ ก็คือ งานเขียนทุกฉบับ เป็นสิทธิ์ขาดของอาลักษณ์เพียงเท่านั้น ห้ามใครอ่านเด็ดขาด โทษสูงสุดคือ “ตัดหัว” ค่ะ แม้แต่กษัตริย์ก็มิอาจเข้าไปอ่านได้ เหล่าอาลักษณ์ให้เหตุผลว่า หากพระราชาองค์นี้อ่าน พระราชาองค์ถัดไปก็จะขออ่านอีก เคยมีเหตุการณ์ที่องค์ชายยอนซัน (เคยเป็นพระราชา แต่อื้อฉาวมากจนถูกปลดจากบัลลังก์) เปิดอ่านบันทึกประวัติศาสตร์แล้วเกิดไม่พอใจ จึงกวาดล้างขุนนางฝ่ายซาริมล้มตายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นี้มีชื่อว่า การสังหารหมู่ปราชญ์ปีมูโอ무오사화นอกจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงบันทึกของอาลักษณ์อีก ส่งผลให้บันทึกประวัติศาสตร์โชซอนเป็นลักษณะ “ข้อมูลดิบ” “ข้อมูล Real Time” (ต่างจากไทย ที่มีการสังคายนาประวัติศาสตร์อยู่เนืองๆ ประวัติศาสตร์อยุธยา สังคายนาในยุครัตนโกสินทร์ก็มี และหลายครั้งที่มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลัง)

    คำว่า “ประวัติศาสตร์” แม้แต่ในภาษาอังกฤษก็ยังเขียนว่า History (His+Story เรื่องราวของผู้ชาย) หากจะมีผู้หญิงปรากฎตัวในนั้น พวกเธอก็จะเป็นผู้หญิงที่ “ถูกประเมินคุณค่าในสายตาผู้ชาย” ต้องเป็นแม่และเมียที่ดี หรือเป็นหญิงสาวที่งามหยดย้อย จนผู้ชายทั้งเมืองหมายปอง และหากว่าผู้หญิงคนนั้นเกิดฉลาดเกินชาย หรือเชี่ยวชาญการรบขึ้นมา ประวัติศาสตร์ก็อาจเขียนว่า นางเป็นคนโหดร้ายเกินมนุษย์ ในอดีตก็มีผู้หญิงพยายามเขียนประวัติศาสตร์ค่ะ แต่พวกเธอถูกมองว่าเพ้อเจ้อ จนมาเดี๋ยวนี้เริ่มมีประวัติศาสตร์แนว Herstory เรื่องราวของ “ชินซาอิมดัง” สตรีบนธนบัตร 50,000 วอน ที่ถูกชมเชยว่าเป็นเมียและแม่ที่ดีตามหลักขงจื๊อ ก็ถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ ชี้ให้เห็นว่าเธอเป็นได้มากกว่านั้น จริงอยู่ค่ะ แม้ประวัติศาสตร์ในอดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ตัวเองได้ จงเป็นมนุษย์ที่เคารพคุณค่าในตัวเองเสมอ เหมือนกับอาลักษณ์น้องใหม่คนนี้ กูแฮรยอง
 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X