สุโค่ย! คอมมิวนิตี้คนแก่ในญี่ปุ่น สุดยอดต้นแบบรับสังคมผู้สูงอายุ
2016-04-30 17:43:33
Advertisement
Pyramid Game

อีกราว 10 ปี ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ มีประชากรวัยเกิน 60 ปี ถึง 14 ล้านกว่าคน ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และ เอกชน ต่างมุ่งหาทางรับมือกับอนาคตข้างหน้า 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยที่ในอนาคตจำเป็นต้องพัฒนาให้เหมาะสม มีความสะดวก ปลอดภัยกับวัยของผู้อยู่อาศัย จึงพาคณะสื่อมวลชนบินลัดฟ้าไปถึงดินแดนอาทิตย์อุทัย ประเทศซึ่งมีประชากรสูงวัย (65 ปีขึ้นไป) ถึง 33 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26 ของประชากรทั้งหมด และเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด 

คณะเดินทางไปที่เมืองชิบะ ที่ตั้งของโครงการ Smart Community ซึ่งเป็นโครงการที่จัดสรรชุมชนการดูแลผู้เกษียณอายุ หรือ Continuing Care Retirement Community : CCRC ได้ครบวงจร และ ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีเงินทุน 910 ล้านเยน 



สำหรับผู้ที่จะเข้ามาใช้ชีวิตที่นี่ อันดับแรกต้องเป็นเจ้าของแมนชั่นในราคาเริ่มต้น 13 ล้านเยนก่อน โดยมีอยู่ราว 800 ห้อง ขนาดตั้งแต่ 33-100 ตารางเมตร จากนั้นต้องจ่ายค่าแรกเข้าเป็นสมาชิก และ ค่าใช้จ่ายรายเดือน เดือนละ 90,000 เยน และที่สำคัญที่สุดต้องเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และ เป็นผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ 

ฟังเงื่อนไขแล้วหลายคนคิดว่าคนมาอยู่ได้ต้องรวยเท่านั้น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่

"มาซามิชิ โซเมโนะ" ประธานบริหารบริษัท Smart Community กล่าวกับ คณะธอส.และสื่อมวลชนไทยว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ เป็นราคามนุษย์เงินเดือนทั่วไป เงินบำนาญที่ได้จากรัฐบาลนั้นเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย ดังนั้นคนที่มาอยู่ที่ เป็นคนชั้นกลางธรรมดา ไม่ต้องรวยก็ซื้อชีวิตที่นี่ได้ โดยชุมชนแห่งนี้มีคอนเซ็ปต์หลัก 3 ประการ คือ 1.ลดความกังวลเรื่องเงิน 2.มีสุขภาพใจที่ดี และ 3.สุขภาพกายที่ดี 



สำหรับชุมชนนี้แน่นอนเพื่อนในวัยเดียวกัน ย่อมรู้ใจกัน จะทำให้การใช้ชีวิตมีชีวามากขึ้น อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่ามาแล้วจะต้องนอนแบ็บอยู่แต่บนเตียงเท่านั้น ที่สำคัญที่แห่งนี้ยังมีคลับเฮ้าส์ ซึ่งมีขนาด 33,000  ตารางเมตร 2 ชั้น ไว้ให้บริการ ในนี้สมาชิกสามารถทำกิจกรรม เต้นรำ เล่นบิลเลียด มีสนามกีฬาเล่นเทนนิส กอล์ฟ เบสบอล ฟุตบอล มีพื้นที่ทำกิจกรรม ซ้อมดนตรี มีร้านอาหาร 4 ร้าน มีบาร์ คาเฟ่ และยังมีร้านหมอฟันให้ใช้บริการได้อีกด้วย



คนสูงอายุเล่นบิลเลียดกันสนุกสนาน


กิจกรรมต่างๆ มีให้ทำสร้างความเพลิดเพลินอย่างมาก

หลังจากรับฟังข้อมูลแล้ว คณะได้เดินทัวร์ในคลับเฮ้าส์ เดินสวนกับคนสูงอายุที่เดินไปมา ที่ยังมีท่าทางกระฉับกระเฉง และ สีหน้าแช่มชื่น สำหรับสมาชิกที่มาอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่กระตือรือร้นทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น เป็นคนสูงอายุจากทั่วประเทศ 

"ที่นี่เราเสนอกิจกรรมต่างๆ มากมาย มี 50 โปรแกรม มีชมรมจัดตั้งโดยสมาชิกเอง 40 ชมรม อาทิ ชมรมวงแจ๊ส ชมรมการเล่นละคร การทำกิจกรรมร่วมกันในชมรม จะมีการแสดงถึงผลงาน จัดปาร์ตี้ ทำให้สมาชิกมีชีวิตชีวา คนอยู่กระชุ่มกระชวย ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสนุกสนาน  และ ทำให้หวนนึกถึงสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย"มาซามิชิ กล่าว 


ผลงานของคนสูงอายุที่นำมาตั้งโชว์ภายในคลับเฮ้าส์

ปัจจุบันชุมชนมีสมาชิก700คน สัดส่วน ผู้หญิง 58% ผู้ชาย 42% คนโสด 59% สมรส 41% อายุโดยเฉลี่ย 72 ปี ต่ำสุด 54 ปี สูง 92 ปี ทุกคนอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีผู้ดูแล 



ร้านอาหารในชุมชน

สำหรับคลับเฮ้าส์ และ แมนชั่น จะมีคนดูแล ประจำ 24 ชั่วโมง สามารถสั่งอาหารไปส่งที่พักได้ด้วย อีกทั้งสต๊าฟที่แมนชั่นยังร่วมมือกับโรงพยาบาล สามารถรับส่งสมาชิกได้ โดยมีรถรับส่ง และมีการดูแลตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน

จุดเด่นของที่นี่อีกอย่างคือ มีอาหารให้ 2 มื้อ ที่สำคัญอร่อย 
 
มาซามิชิ บอกว่า คนแก่ญี่ปุ่นถ้าอยู่บ้านส่วนใหญ่มักจะประหยัดค่าใช้จ่ายอาหาร ไม่คำนึงคุณค่าอาหาร แต่ถ้ามาอยู่ในชุมชนก็จะมีบริการทำอาหารให้ และ มีเพื่อนวัยเดียวกัน ทำให้การกินเพิ่มความเอร็ดอร่อย ให้ความสำคัญดูแลสุขภาพ 


กิจกรรมโยคะ


ห้องนอนตัวอย่าง

ไม่เพียงคนสูงอายุเท่านั้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การเกิดของชุมชนแห่งนี้ยังได้สร้างงานท้องถิ่นเพิ่มถึง20% มีสต๊าฟท้องถิ่น 200 คน อีกทั้งสมาชิกบางคนได้ขายบ้านที่เคยอาศัยเพื่อมาอยู่ชุมชนนี้ที่นอกจากคุณภาพชีวิตแล้วยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอีกด้วย การเกิดของชุมชนจึงทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นกระเตื้องขึ้นถือว่าวินวินทุกฝ่าย 

มองดูแล้วราวกับสถานที่แห่งนี้เป็นโลกใบใหม่ของผู้สูงอายุที่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยที่มีความแตกต่างออกไป คือ ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่คือผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นต้นแบบนี้อาจเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับเมืองไทยไปมาก 

อย่างไรก็ตาม จากการดูงานแล้ว ได้ข้อสรุปจาก “สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล” ประธานกรรมการธอส. ผู้นำสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยว่า แม้เมืองไทยจะยังทำแบบนี้ไม่ได้ แต่จะนำแนวทางบางอย่างไปประยุกต์ใช้อย่างแน่นอน

หวังว่าจะมีผู้ประกอบการหันมาสนใจการลงทุนเพื่อกลุ่มคนแก่มากขึ้น เพราะสังคมผู้สูงอายุของไทยได้งวดเข้ามาทุกทีแล้ว

 

ที่มา  http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1461941219

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X