หมอชี้กิน’โฟเลต’ก่อนมีเซ็กซ์ 6 สัปดาห์ ‘ป้องกัน’เด็กพิการแต่กำเนิดได้
2016-01-28 13:50:42
Advertisement
คลิก!!!

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการทำโครงการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ลงพื้นที่ในประเทศไทย พบร้อยละ 40 ของหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาตัวซีดส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีปัญหาเรื่องเชาวน์ปัญญาต่ำ พิการแต่กำเนิด ติดเชื้อง่าย เป็นต้น การป้องกันต้องหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสารเสพติด ที่สำคัญต้องได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอระหว่างที่มีการตั้งครรภ์เนื่องจากโฟเลตมีผลต่อการสร้างดีเอ็นเอ สร้างตัวอ่อน

“การที่แม่มีโฟเลตต่ำจะทำให้ดีเอ็นเอแบ่งตัวไม่พอต่อการแบ่งเซลล์ อวัยวะหลายอย่างตาย เด็กที่เกิดมาไม่แข็งแรง ไม่สมบูรณ์ เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ แขน ขาพิการ หัวใจพิการ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำคือการให้โฟเลตในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้” ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์กล่าว

ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การป้องกันความพิการตั้งแต่กำเนิดให้ได้ผลควรรับประทานโฟเลตก่อนการตั้งครรภ์ โดยหลักการควรรับประทานขนาด 0.4 มิลลิกรัม หรือ 400 ไมโครกรัม ก่อนมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ จนถึงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพื่อป้องกันความพิการรุนแรงแต่กำเนิดสมอง ไขสันหลัง หัวใจ แขน ขา ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบทางเดินอาหาร ได้ร้อยละ 50 โดยเฉพาะความพิการทางด้านสมองและไขสันหลังนั้นสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 70

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก หรือฮู ได้ประกาศเป็นแนวทางปฏิบัติในการลดความพิการตั้งแต่กำเนิดสำหรับทุกประเทศทั่วโลก และประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ได้ออกเป็นกฎหมายในการเสริมโฟเลตในหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน และให้มีการผสมลงในอาหารด้วย ผลจากมาตรการดังกล่าวทำให้ลดอัตราเด็กพิการแต่กำเนิดลงได้กว่าร้อยละ 50 อัตราการความพิการน้อยกว่าร้อยละ 2 ในปัจจุบัน ส่วนประเทศในเอเชียยังไม่มีประเทศใดออกเป็นกฎหมายมีเพียงประกาศแนวทางไว้เท่านั้น ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ส่วนตัวเห็นด้วยให้มีการประกาศเป็นกฎหมาย แต่ถ้าจะผสมลงในอาหารนั้นอาจจะทำได้ยากเนื่องจากอาหารของไทยนั้นหลากหลายมาก

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X