ตรวจ "หมึกสักลาย" พบปนเปื้อนโลหะหนัก-แบคทีเรีย เสี่ยงเนื้อตาย มะเร็งผิวหนัง
2015-06-17 12:18:46
Advertisement
คลิก!!!

        สุ่มตรวจ "หมึกสักลาย" พบปนเปื้อนสารหนู แคดเมียม ตะกั่ว บางตัวอย่างเกินค่ามาตรฐานหลายเท่า อึ้ง! เจอเชื้อแบคทีเรียจำนวนเกินกว่าที่กำหนดมากกว่า 35 เท่า เตือนสักลายไม่ระวังอาจติดเชื้อ ทำให้เนื้อตาย ส่วนสารปนเปื้อนมีสิทธิก่อมะเร็งผิวหนัง พบยังไม่กำหนดเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อ

 
        นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้การสักได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในด้านการเสริมความงาม เช่น การสักคิ้วถาวร การสักริมฝีปาก เป็นต้น และกำลังเป็นที่นิยม ส่วนบางคนชอบสักลวดลายต่างๆ บนร่างกาย เช่น อักขระต่างๆ ตามความเชื่อ หรือลวดลายรูปสัตว์ถือเป็นศิลปะที่สวยงาม แต่ในความสวยงามจากการสัก อาจมีอันตรายที่แอบแฝงอยู่ หากผู้ทำการสักไม่มีความชำนาญและอุปกรณ์การสักไม่สะอาด เช่น เข็มที่ไม่สะอาด อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ หมึกสักลายอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการแพ้ เป็นผื่นหรือตุ่มแดง บางรายเกิดอาการคันในตำแหน่งของรอยสัก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผิวหนังอักเสบได้
       
       นพ.อภิชัย กล่าวว่า สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ได้ประเมินคุณภาพและความปลอดภัย โดยสุ่มเก็บตัวอย่างหมึกสำหรับสักลาย 52 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พบว่า ในส่วนของโลหะหนัก พบสารหนูเกินมาตรฐานที่กำหนดคือ 5 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง โดยปริมาณสูงสุดที่พบคือ 14.64 ไมโครกรัมต่อกรัม แคดเมียมเกินมาตรฐานที่กำหนดคือ 1 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง โดยปริมาณสูงสุดที่ตรวจพบคือ 7.89 ไมโครกรัมต่อกรัม และตะกั่ว 2 ตัวอย่างแต่ไม่เกินมาตรฐานกำหนดคือ 20 ไมโครกรัมต่อกรัม โดยตรวจพบในปริมาณที่น้อยกว่า 5 ไมโครกรัมต่อกรัม ส่วนปรอทและสีห้ามใช้ตรวจไม่พบทุกตัวอย่าง สำหรับการตรวจหาเชื้อก่อโรค พบเชื้อแบคทีเรียเกินกำหนด 13 ตัวอย่าง และพบเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา 1 ตัวอย่าง จำนวนที่ปนเปื้อนอยู่ในระดับ 35,000-10,000,000 โคโลนีต่อกรัม ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม
       
       "หมึกสักลายที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมที่บริเวณผิวหนัง และอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง ส่วนเชื้อเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา สามารถก่อโรคได้หลายชนิด หากติดเชื้อที่ปอดอาจจะทำให้ปอดและหลอดลมอักเสบ รวมถึงหากได้รับเชื้อทางผิวหนังอาจจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนังชนิดเอกติมา แกงกรีโนซัม คือ มีอาการบวม แดง ค่อนข้างแข็ง ต่อมาจะกลายเป็นเนื้อตาย หรือเชื้อสตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส ทำให้เกิดโรคตาแดง ระคายเคืองตา ทำให้หนังตาอักเสบ เป็นต้น" อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
       
       นพ.อภิชัย กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่ได้จัดให้หมึกสักลายเป็นเครื่องสำอาง แต่พบว่าสีที่ใช้ในหมึกเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางได้ ที่สำคัญหมึกสักลายยังไม่มีข้อบังคับให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องปราศจากเชื้อ จึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ เพื่อความปลอดภัยจึงควรระมัดระวังในการใช้และไม่สักลายบริเวณผิวที่บอบบางหรือมีการอักเสบ เป็นแผล การใช้น้ำเจือจางหมึกและการล้างอุปกรณ์ต้องปราศจากเชื้อ ผู้บริโภคควรใช้บริการจากผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐาน เลือกสักลายด้วยหมึกสักลายจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่น่าเชื่อถือ ใช้บริการจากผู้สักลายที่รักษาสุขลักษณะ ถ้ามีประวัติแพ้สารใดมาก่อน ควรพิจารณาส่วนประกอบสำคัญอย่างละเอียด ก่อนการเลือกใช้หมึกสักลาย และผู้ประกอบการควรล้างมือให้สะอาดและใส่ถุงมือ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
 
ขอขอบคุณที่มา  http://www.manager.co.th/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X