เร่งร่างข้อแนะนำร้านค้าผลิต-ขนส่งน้ำแข็ง หลังพบเป็นแหล่งปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์ม
2015-03-27 14:34:08
Advertisement
Pyramid Game
 
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่างคำแนะนำเรื่อง “การควบคุมการประกอบกิจการการผลิต สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่งน้ำแข็ง” ได้ผ่านมติของคณะกรรมการสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2558 รอเสนอให้ประธานคณะกรรมการสาธารณสุขลงนาม โดยทางกรมอนามัย เตรียมส่งเสริมสนับสนุนให้ราชการส่วนท้องถิ่น นำคำแนะนำดังกล่าว ออกเป็นข้อกำหนดท้องถิ่น เพื่อใช้ควบคุมสถานประกอบกิจการผลิตน้ำแข็ง รวมไปถึงสถานที่สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่งน้ำแข็ง เนื่องจากน้ำแข็งยังเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเกิดโรคท้องร่วง ซึ่งความนิยมในการบริโภคน้ำแข็ง ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบร้อน จึงเป็นที่นิยม ทั้งใส่เครื่องดื่ม ขนมหวาน และใช้ในการคงความสดอาหาร  
 
 ดังนั้น หากกระบวนการผลิตไม่ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาล หรือไม่ควบคุมดูแลในด้านสุขลักษณะ ทั้งการผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา และจำหน่ายอย่างดีแล้ว อาจเกิดการปนเปื้อน และเป็นแหล่งแพร่กระจายของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการป่วยจากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคได้ 
 
 อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการสุ่มสำรวจความปลอดภัยอาหาร ของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 1-12 ในปี 2555 พบว่า น้ำแข็งเพื่อบริโภคที่มีการจำหน่ายในร้านอาหารและแผงลอยจำนวน 142 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียถึง 48 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33.8 จะเห็นได้ว่า น้ำแข็งที่บริโภคนี้ยังมีการปนเปื้อนสูง ซึ่งเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย แม้จะไม่ใช่เชื้อโรคที่มีอันตราย แต่เป็นเชื้อที่บ่งบอกถึงความสกปรกได้ เพราะเชื้อนี้ส่วนใหญ่จะพบในอุจจาระของคนและสัตว์เลือดอุ่น 
 
 ถ้าพบเชื้อนี้ในน้ำแข็งหรืออาหาร ก็หมายความว่า น้ำแข็งหรืออาหารนั้นๆ น่าจะมีการปนเปื้อนจากอุจจาระ ซึ่งอาจมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การปนเปื้อนในกระบวนการผลิต สถานที่ผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การขนส่ง ภาชนะอุปกรณ์ที่อาจจะไม่สะอาด หรือมีการนำกลับมาใช้ซ้ำ และที่สำคัญคือการปนเปื้อนผ่านมือของผู้สัมผัสน้ำแข็ง ที่อาจจะเข้าส้วมแล้วล้างมือไม่สะอาด อุจจาระอาจติดมากับมือ ซอกนิ้วหรือเล็บและเมื่อมาปฏิบัติงาน ก็ทำให้เกิดการปนเปื้อนได้
 
 “ขณะนี้กรมอนามัยมีโครงการนำร่อง ในการพัฒนาสถานที่ผลิต สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่งน้ำแข็งต้นแบบ โดยจะมีการอบรมมาตรฐานและสุขลักษณะที่ดี ที่ต้องปฏิบัติให้แก่โรงน้ำแข็งและร้านค้าส่งในภาคอีสาน และจะขยายผลต่อไปยังภาคอื่นๆ และในส่วนของร้านอาหารเอง ก็ต้องมีการปฏิบัติจัดเก็บและจำหน่ายน้ำแข็งอย่างถูกสุขลักษณะ คือ ห้ามนำสิ่งของใดๆ มาแช่รวมในน้ำแข็งที่ใช้บริโภค ต้องใช้อุปกรณ์มีด้ามในการตักน้ำแข็ง สำหรับการเลือกซื้อน้ำแข็งมาเพื่อบริโภคนั้น ต้องถูกสุขลักษณะ โดยผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการบริโภคเท่านั้น คือผลิตจากน้ำที่มีคุณภาพตามมาตรฐานน้ำบริโภคผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน ลักษณะของน้ำแข็งจะต้องใส สะอาด บรรจุในซองพลาสติกหรือถุงพลาสติกที่ปิดผนึกเรียบร้อยมีเครื่องหมายอย. รับรองอย่างถูกต้อง สำหรับร้านอาหารหรือแผงลอยต้องเก็บน้ำแข็งในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด ไม่เป็นสนิม และตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มมาแช่ ในน้ำแข็งที่ใช้บริโภค เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคและสิ่งสกปรก”นพ.พรเทพ กล่าว
 
 
ขอขอบคุณที่มา  ข่าวสดออนไลน์
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X