อาหารกลางวันกับ"วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์" มื้อละ 108 ล้านบาท คุ้มจริงๆ
2012-06-22 16:59:19
Advertisement
Pyramid Game

คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด อาหารกลางวันมื้อละ 108 ล้านบาท มติชนสุดสัปดาห์ 22-28 มิถุนายน 2555

การได้กินอาหารกลางวันประกอบการพูดคุยสนทนาและถามในสิ่งที่อยากรู้ได้ไม่จำกัดกับ วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์ เศรษฐีอันดับ 3 ของโลกเป็นสิ่งที่หาโอกาสไม่ได้ง่ายๆ

เพราะโอกาสแบบนี้ไม่มีบ่อยๆ วอร์เร็นก็เลยหาเงินเข้าการกุศลด้วยการประมูล Power Lunch with Warren Buffett หรือการทานอาหารกลางวันกับ วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์ ผ่านทางอีเบย์ เขาจัดการประมูลมาแล้ว 12 ครั้ง

ครั้งที่ 13 จบการประมูลเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ชนะการประมูลทำสถิติด้วยการจ่ายเงิน 3,456,789 ดอลลาร์

ตัวเลขสวยอย่าบอกใคร

การประมูลออนไลน์เริ่มเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ราคาเริ่มต้นที่ 25,000 ดอลลาร์ หรือ 787,500 บาท และสิ้นสุดในวันที่ 8 มิถุนายน มีผู้เข้าประมูล 10 คน

ใน 5 วัน มีการขับเคี่ยวเกทับกลับไปกลับมากันถึง 106 ครั้ง เข้มข้นกว่าเมื่อปีกลายที่มีคนประมูลสู้กันเพียง 2 คน และประมูลสู้กัน 8 หน

การประมูลรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับ วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์ เริ่มครั้งแรกในปี 2000 และทำเป็นประจำทุกปี ทำรายได้เพื่อการกุศลกว่า 400 ล้านบาท รายได้ทั้งหมดบริจาคเข้ามูลนิธิ ไกลด์ (Glide) ที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ซูซานภรรยาคนแรกที่เสียชีวิตไปให้การสนับสนุนและแนะนำให้บัฟเฟ็ตต์รู้จักมูลนิธินี้

ผู้ชนะการประมูลในปีนี้เป็นผู้ประสงค์จะออกแต่เงินไม่ประสงค์จะออกนามซึ่งก็เหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา

สื่อจะทราบว่าเป็นใครก็ต่อเมื่อปรากฏตัวทานอาหารกลางวันกับบัฟเฟ็ตต์ที่ร้านสมิธ แอนด์ วอลเล็นสกี้ (Smith & Wollensky) สาขานครนิวยอร์ก ที่รับเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงทุกปี

ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิ์ชวนญาติ พี่น้อง เพื่อนพ้องอีก 7 คน ร่วมทานอาหารกลางวันกับบัฟเฟ็ตต์เป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง

ค่าอาหารกลางวัน 3 คอร์ส ที่ร้านสมิธ แอนด์ วอลเล็นสกี้ ซึ่งเป็นสเต๊ก เฮ้าส์ ราคาค่อนข้างสูง ตกประมาณคนละเกือบ 2,000 บาท

หลายคนมองว่าผู้ชนะการประมูลนำเงินมหาศาลไปละลายภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แทนที่จะเอาไปซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือข้าวของที่ใช้งานได้

แต่ผู้ชนะการประมูลที่ออกมาเปิดตัวและให้สัมภาษณ์พูดตรงกันหมดว่า การนั่งสนทนากับ วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์ บนโต๊ะอาหารได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องธุรกิจนั้นเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามหาศาลจนประเมินค่าไม่ได้ และยังได้บริจาคเงินเพื่อการกุศลเข้ามูลนิธิไกลด์ด้วย

หากมองในแง่ของจิตวิทยา การใช้เงินให้เกิดความสุข การใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์และช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ถือเป็นการใช้เงินที่ก่อให้เกิดความสุขสูงสุด และอยู่ในความทรงจำนานที่สุด

โดยเมื่อเดือนที่แล้วมีรายงานผลการศึกษาน่าสนใจเรื่องการรักษาความสุขให้ยาวนาน และการใช้เงินอย่างไรทำให้ตัวเองมีความสุข เป็นการศึกษาร่วมกันของนักจิตวิทยาแห่ง Missouri University และ University of California, Riverside

พบว่าการช็อปปิ้งซื้อของชิ้นใหม่ให้ตัวเองมีความสุขนั้นเป็นความสุขเพียงประเดี๋ยวประด๋าว เพราะหลังจากซื้อแล้วของนั้นก็ตั้งอยู่เฉยๆ เช่น เสื้อผ้าก็แขวนอยู่ในตู้ ไม่ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ อะไรให้กับชีวิต

ในทางตรงกันข้าม การใช้เงินในการซื้อประสบการณ์สร้างความสุขใจได้ยืนยาวกว่า เช่น การเรียนทำอาหารก่อให้เกิดความสุขยาวนานกว่าการซื้ออุปกรณ์เครื่องครัวชิ้นใหม่ เอาเงินไปซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ตจะทำให้มีความสุขยาวนานกว่าซื้อเครื่องเสียง ยังจดจำความสนุกจากการไปดูคอนเสิร์ตแม้เวลาจะผ่านไปนานเป็นปีๆ แล้ว เมื่อกลับมาคิดถึงช่วงเวลานั้นทีไรก็มีความสุข หรือการจ่ายเงินซื้อทัวร์ไปเที่ยวที่ดีๆ จะมีความสุขติดอยู่ในใจยาวนาน

ในขณะที่จ่ายเงินซื้อของที่เป็นวัตถุนั้น เมื่อเวลาผ่านไปคุณค่าทางจิตใจมักจะลดลง และจะซื้อของชิ้นใหม่มาทดแทน

นอกจากนี้ การใช้เงินในการช่วยเหลือผู้อื่นยังสร้างความสุขที่ยาวนานกว่าการใช้เงินในการซื้อของให้ตัวเอง เพราะผู้ให้จะรู้สึกอิ่มเอมใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำไปนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกแก่ผู้รับ

ไม่เชื่อลองทดลองเป็นผู้ให้ดูเถิดครับ จะรู้สึกมีความสุขมากกว่าเป็นผู้รับจริงๆ ด้วย

cr.http://www.matichon.co.th

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X