ลุ้นเฟซบุ๊กคลอดมือถือกลางปีหน้า-มาร์คปัดข่าวไม่จริง
2012-07-28 18:05:19
Advertisement
คลิก!!!

 

 
 
   สื่ออเมริกันอ้างแหล่งข่าววงในระบุว่าเฟซบุ๊กกำลังทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตสัญชาติไต้หวันอย่างเอชทีซี (HTC) เตรียมเปิดตัวสมาร์ทโฟนสู่ตลาดโลกในช่วงกลางปีหน้า (2013) แย้มเฟซบุ๊กกำลังซุ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์นี้ด้วยตัวเอง แถมยังดึงอดีตโปรแกรมเมอร์ของแอปเปิลมาพัฒนาเครื่อง พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพให้แอปพลิเคชันเฟซบุ๊กสำหรับไอโฟนทำงานได้ดีขึ้น
       
       สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานเรื่องราวของเฟซบุ๊กอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยนาม โดยระบุว่ากำหนดการเปิดตัวสมาร์ทโฟนช่วงกลางปีหน้านั้นถูกเลื่อนจากกำหนดการปัจจุบันที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปีนี้ พร้อมให้เหตุผลว่าโรคเลื่อนที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อต้องการให้เอชทีซีมีเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น
       
       บลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่า ปัจจุบันผู้ใช้เฟซบุ๊กมากกว่าครึ่งหนึ่ง (จากทั้งหมด 900 ล้านคน) นั้นใช้งานเฟซบุ๊กทางอุปกรณ์พกพา แต่สัดส่วนรายได้จากอุปกรณ์พกพากลับไม่ทำรายได้ให้เฟซบุ๊กเท่าที่ควร จุดนี้ซีอีโอเฟซบุ๊กอย่าง "มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก" จึงถูกมองว่าจะหันมาใช้ "เฟซบุ๊กโฟน" หรือสมาร์ทโฟนเฟซบุ๊กที่ผูกรวมคุณสมบัติด้านเครือข่ายสังคมแบบเป็นเนื้อเดียว เป็นอาวุธในการขยายรายได้จากธุรกิจโฆษณาออนไลน์ที่ปัจุบันทำเงินให้เฟซบุ๊กไม่ต่ำกว่า 3.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ
       
       นักวิเคราะห์เชื่อว่าเฟซบุ๊กโฟนจะทำให้นักการตลาดตื่นตัวและตระหนักถึงอิทธิพลของเฟซบุ๊กในโลกสมาร์ทโฟนระดับหนึ่ง และจะหันมาลงโฆษณากับเฟซบุ๊กบนสมาร์ทโฟนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจนส่งผลดีถึงผู้ถือหุ้นในที่สุด
       
       วิคเตอร์ แอนโธนี นักวิเคราะห์บริษัท Topeka Capital Markets Inc. ให้ความเห็นว่า ฐานการใช้งานเฟซบุ๊กนั้นย้ายจากคอมพิวเตอร์มาเกิดขึ้นบนอุปกรณ์มือถือ แต่ปัญหาคือเฟซบุ๊กยังไม่สามารถทำประโยชน์จากเทรนด์ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นเฟซบุ๊กจึงพยายามแทรกตัวเข้าสู่ผู้บริโภคด้วยการพัฒนาอุปกรณ์ที่ผู้ใช้จะพกพาติดตัวตลอดเวลา และพ่วงด้วยประสบการณ์โซเชียลเต็มรูปแบบ ซึ่งวิธีนี้อาจจะทำให้โฆษณาจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก
       
       อย่างไรก็ตาม ทั้งเฟซบุ๊กและเอชทีซีต่างไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวที่เกิดขึ้น ทำให้ข่าวของบลูมเบิร์กกลายเป็นข่าวลือในที่สุด ท่ามกลางมูลค่าหุ้นเฟซบุ๊กที่ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่เปิดจำหน่ายครั้งแรกหรือ IPO ราว 23% สาเหตุสำคัญคือความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนที่มองว่าเฟซบุ๊กยังไม่สามารถผลักดันธุรกิจโฆษณาออนไลน์ให้เติบโตเท่าที่ควร
 
 
 
       
       ทั้งหมดนี้เฟซบุ๊กรู้ตัวดี โดยเมนโล ปาร์ก ตัวแทนเฟซบุ๊กเคยแสดงวิสัยทัศน์ให้ผู้ถือหุ้นฟังว่า อุปกรณ์เคลื่อนที่จะมีคุณสมบัติดีขึ้นเมื่อมีความสามารถด้านโซเชียลที่เหนือชั้นขึ้น จุดนี้ทำให้เฟซบุ๊กประสานงานร่วมกับหลายบริษัทในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมาตลอด ทั้งโอเปอเรเตอร์ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการ (OS) ตลอดจนนักพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อให้ประสบการณ์โซเชียลชั้นเลิศถูกส่งถึงมือผู้บริโภคทั่วโลกให้มากที่สุด ซึ่งวิสัยทัศน์นี้เองที่ทำให้โลกคาดว่าเฟซบุ๊กจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนของตัวเองในที่สุด
       
       ในส่วนการดึงตัวอดีตโปรแกรมเมอร์แอปเปิล รายงานระบุว่าประกอบด้วยเกรก โนวิค (Greg Novick) ซึ่งดูแลการพัฒนายูสเซอร์อินเตอร์เฟซหรือหน้าตาโปรแกรมบนจอทัชสกรีน, ทิม โอเมอร์นิค (Tim Omernick) และคริส เทรมเบลย์ (Chris Tremblay) ซึ่งดูแลส่วนซอฟต์แวร์ในเครื่อง ขณะที่สกอตต์ กูดสัน (Scott Goodson) รับหน้าที่ดูแลการผลิตแอปพลิเคชัน
 
 
       
       ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กประกาศซื้อกิจการบริษัทพุชป็อปเพรส (Push Pop Press) ผู้ผลิตซอฟต์แวร์นิตยสารดิจิตอลซึ่งมีมือดีแอปเปิลอย่างไมค์ มาทาส (Mike Matas) และไคมอน ทซินเทอริส (Kimon Tsinteris) เป็นผู้ก่อตั้ง โดยทั้ง 2 คนเป็นนักออกแบบที่เป็นกำลังหลักในการสร้างสรรค์รูปร่างและความรู้สึกในซอฟต์แวร์สำหรับไอโฟนและไอแพด โดยเฉพาะมาทาสที่ถูกยกว่าเป็นผู้ออกแบบสัญลักษณ์แบตเตอรี่บนหน้าจอไอโฟนซึ่งจะแสดงขณะที่เครื่องกำลังถูกชาร์จพลังงาน
       
       จุดนี้ไม่มีการยืนยันจากเฟซบุ๊ก มีเพียงรายงานว่าสาวกที่ผูกใจใช้งานบีบีหรือ BlackBerry มานานอย่างมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก นั้นเพิ่งเปลี่ยนมาใช้ไอโฟนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
       
       อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กและเอชทีซีตกเป็นข่าวร่วมกัน โดยก่อนหน้านี้เอชทีซีและเฟซบุ๊กได้ร่วมกันเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่น “ชาชา (ChaCha)” บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยในเครื่องมีปุ่ม Facebook ต่างหากเพื่อให้ผู้ใช้สามารถแชร์เพลง, ภาพ และข้อความได้ง่ายและสะดวก แต่น่าเสียดายที่ชาชาไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร และสัดส่วนตลาดของเอชทีซีก็ลดลงต่อเนื่องทั้งในตลาดสหรัฐฯ และตลาดโลกที่มีสัดส่วนตลาดที่ 4.8% เท่านั้น
       
       แนวคิดโทรศัพท์มือถือแบรนด์เฟซบุ๊กนั้นอาจจะฟังดูดี แต่หลายครั้งที่มีข่าวลือเรื่องเฟซบุ๊กสนใจสร้างโทรศัพท์มือถือซึ่งเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2009 นักวิเคราะห์มักจะไม่เห็นด้วย พร้อมกับให้ความเห็นว่าผู้บริโภคในปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่สามารถจัดการงานได้หลายหลากอยู่แล้ว แถมอุปกรณ์นี้สามารถเข้าถึงบริการหรือเครือข่ายสังคมใดก็ได้โดยที่ไม่ต้องผูกติดแต่เฉพาะค่ายใดค่ายหนึ่ง ที่สำคัญคือมีกลุ่มคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ใช้งานเฟซบุ๊กบ่อยมากจนต้องซื้ออุปกรณ์เพื่อผูกพ่วงตัวเองกับเครือข่ายสังคมเดียว
       
       ทั้งหมดต้องรอลุ้นช่วงปีหน้า หรือไม่ก็จนกว่าเฟซบุ๊กจะออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ
       
       ล่าสุด มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก ได้ออกมาปฎิเสธข่าวลือเกี่ยวกับการที่เฟซบุ๊กจะหันมาทำสมาร์ทโฟนแล้ว โดยสิ่งที่ซีอีโอหนุ่มคาดหวังมากที่สุด ต้องการให้เฟซบุ๊กสามารถใช้งานได้ในทุกๆ แพลตฟอร์ม รวมถึงการให้ทำให้แอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก เป็นแอปฯที่ถูกฝังลงในระบบปฏิบัติการเลย เหมือนดังเช่นไอโอเอส 6 (iOS 6) ที่มีแอปฯเฟซบุ๊กให้ผู้ใช้ตั้งแต่เริ่มเปิดเครื่อง
       
       "มันคงดูไม่เข้าท่าเลย ถ้าเราจะหันไปทำมือถือเอง"
 
 cr.http://www.matichon.co.th
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X